การพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรควัณโรคปอด : กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
วัณโรคปอด การพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ ระบบบริการงานอาชีวเวชกรรมบทคัดย่อ
การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรควัณโรคปอดที่มีภาวะแทรกซ้อนโรคอื่นๆร่วมด้วย สำคัญที่สุดคือความร่วมมือของผู้ป่วยในเรื่องความตระหนักในการรับประทานยาและการฟื้นฟูสภาพปอด ซึ่งรวมไปถึงการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่องโดยการมาตามนัด จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น มีชีวิตรอดกลับมาใช้ชีวิตประจำวันสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ พยาบาลอาชีวอนามัยผู้ดูแลผู้ป่วยวัณโรคปอดควรมีความรู้และทักษะในการดูแลเอาใจใส่ติดตามผู้ป่วยที่มารักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาล รวมถึงบทบาทในการตรวจคัดกรองและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคปอดเนื่องจากการทำงานที่รับงานแกะสลักหินมาทำที่บ้าน ส่งเสริมผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาฟื้นฟูสภาพในโรงพยาบาล ดูแลในเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ค่าชดเชยกรณีเจ็บป่วยจากการทำงานตามที่ผู้ป่วยสมควรจะได้รับ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพยาบาลและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรควัณโรคปอด : กรณีศึกษา 2 ราย
วิธีการศึกษา : ศึกษาผู้ป่วย 2 ราย เลือกแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยโรควัณโรคปอดที่มีโรคซิลิโคซิสร่วมด้วยและผู้ป่วยวัณโรคเหยื่อหุ้มปอดที่มีภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างซ้ายและมีโรคประจำตัวคือไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้มีอาชีพเป็นลูกจ้างสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและข้าราชการสิทธิจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ที่เข้ารับการคัดกรองประเมินจากหน่วยงานอาชีวอนามัยโรงพยาบาลกาฬสินธุ์เพื่อรับเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยศึกษาประวัติผู้ป่วย การรักษาพยาบาล รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย ญาติ พยาบาลประจำคลินิกวัณโรคและเวชระเบียนของผู้ป่วย มีการประเมินสภาพ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย นำข้อมูลที่ได้มาวางแผนเพื่อให้การพยาบาลและช่วยเหลือเรื่องสิทธิเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน กำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลโดยใช้แนวคิดแบบประเมินผู้ป่วยตามแบบแผนทางด้านสุขภาพ 11 แบบแผนของ
กอร์ดอน ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม แนวคิด บทบาทหน้าที่การบริหารจัดการรายกรณี (case management) ของพยาบาลอาชีวอนามัย มาตรฐานการพยาบาลอาชีวอนามัยเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพคนทำงาน 7 ด้าน มีการติดตามประเมินผลการพยาบาลอย่างต่อเนื่องทั้งในโรงพยาบาลจนกระทั่งจำหน่ายกลับบ้านและติดตามเยี่ยมดูแลที่บ้าน
ผลการศึกษา : กรณีศึกษาที่ 1 เพศชายอายุ 36 ปี เป็นวัณโรคปอดร่วมกับโรคซิลิโคซิส ปฏิเสธโรคประจำตัวการทำงานเป็นกลุ่มประชาชนรับงานแกะสลักหินมาทำที่บ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ สิทธิการรักษาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยเป็นวัณโรคปอดร่วมกับโรคซิลิโคซิสจากผลเอ็กซเรย์ปอด(CHEST X RAY PA UPRIGHT) โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ผลตรวจเสมหะ(Sputum AFB 3 วัน) ผลเป็นลบ ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เหนื่อยหอบบางครั้ง เจ็บหน้าอกบางครั้ง น้ำหนักตัวลด แพทย์ให้การรักษาด้วยยาวัณโรค และส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น หลังจากนั้นผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่นตลอดมาแต่อาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นเพราะไม่ไปตามนัดรับยาไม่ต่อเนื่อง เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบเหมือนหายใจไม่อิ่มบางครั้ง ไอห่างๆครั้ง ไม่มีเสมหะ ติดตามผลการรักษาผู้ป่วยขอรับยาต้านวัณโรคต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น อาการดีขึ้นได้ลาออกจากการทำงานเพื่อพักรักษาตัวที่บ้าน ขอรับยาต้านวัณโรคต่อที่โรงพยาบาลนาคู
กรณีศึกษาที่ 2 เพศหญิงอายุ 42 ปี เป็นวัณโรคเยื่อหุ้มปอดร่วมกับน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดข้างซ้าย โรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ ทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐสิทธิจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง ได้รับการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มปอดร่วมกับโรคไทรอยด์เป็นพิษจากผลเอ็กซเรย์ปอด(CHEST X RAY PA UPRIGHT) โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ รับยาวัณโรคจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอกเป็นบางครั้ง เหนื่อยหอบบางครั้ง น้ำหนักตัวลดลง 5 – 7 กก.ใน 2 เดือน ได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 10 วันได้รับยาวัณโรคและยาปฏิชีวนะครบ ได้รับการฟื้นฟูสภาพปอดโดยการเป่าไตรโฟร์(เครื่องเป่าปอด)อาการดีขึ้น ไม่มีไข้ อาการเหนื่อยหอบลดลง แพทย์ได้จำหน่ายให้กลับบ้าน นัดรับยาและเอ็กซเรย์ปอดต่อเนื่องทุก 2 เดือน ฟื้นฟูสภาพปอดโดยการเป่าไตรโฟร์(เครื่องเป่าปอด)ต่อที่บ้าน ผู้ป่วยมาตามนัดทุกครั้งมีอาการดีขึ้น ไม่ไอ เหนื่อยเป็นบางครั้ง ยังรับยาวัณโรคต่อเนื่องที่โรงพยาบาลและได้รับยาวัณโรคจำนวนลดลงหลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 3 เดือน
สรุป : การประเมิน คัดกรองและการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ถูกต้องและแม่นยำ รวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพปอดอย่างมีประสิทธิภาพช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดภายหลังและช่วยลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตได้ ดังนั้นพยาบาลจึงจำเป็นต้องมีความรู้ ทักษะความชำนาญและต้องมีแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นมาตรฐาน การดูแลแบบองค์รวม เพื่อให้ผู้ป่วยวัณโรคปอดผ่านภาวะวิกฤตกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น