การพยาบาลผู้ป่วยเลือดออกในสมองที่ได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ: กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
การพยาบาล ผู้ป่วยเลือดออกในสมอง การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะบทคัดย่อ
การศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษา 2 ราย เลือกแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยเลือดออกในสมองที่ได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ตั้งแต่ระยะก่อนการผ่าตัด หลังการผ่าตัด และระยะฟื้นฟูก่อนจำหน่าย รวบรวมข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาลจากเวชระเบียน โดยใช้แนวคิดแบบประเมินผู้ป่วยตามแบบแผนทางสุขภาพ 11 แบบแผนของกอร์ดอน ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเร็ม และการดูแลแบบประคับ
ประครอง เพื่อค้นหาปัญหาผู้ป่วยกำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลเพื่อวางแผนการการปฏิบัติการพยาบาล สรุปและประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาลอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งแพทย์จำหน่ายกลับบ้าน
ผลการศึกษาพบว่า
กรณีศึกษาทั้ง 2 รายเป็นผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติจราจรและมีเลือดออกในสมองเหมือนกัน รักษาโดยการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะมีจุดมุ่งหมายในการนำก้อนเลือดที่กดเบียดสมองออกเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันด้านพยาธิกำเนิดตำแหน่งของเนื้อเยื่อสมองที่ได้รับบาดเจ็บและมีเลือดออก ตำแหน่งในการผ่าตัดที่นำเอาก้อนเลือดออกและการดำเนินโรคที่แตกต่างกันจากปัจจัยด้าน อายุ โรคประจำตัว ตำแหน่งการบาดเจ็บ ขนาดและความรุนแรงของพยาธิสภาพของโรค และภาวะ แทรกซ้อนของโรคขณะทำการรักษา ส่งผลต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะเวลาช้าหรือเร็วแตกต่างกัน ซึ่งในกรณีศึกษารายที่ 1 ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนตามมาตรฐาน มีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจเพื่อรับการดูแลแบบประคับประคอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความทุกข์ทรมานและมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี พยาบาลจึงควรเข้ามีบทบาทตั้งแต่ช่วงที่เริ่มวินิจฉัยโรคที่คุกคามชีวิต โดยให้การดูแลควบคู่กับการรักษาเฉพาะ ร่วมกับดูแลจิตใจและจิตวิญญาณในช่วงสุดท้ายของชีวิต ให้ครอบครัวและผู้ป่วยสามารถเผชิญต่อการสูญเสียได้อย่างเหมาะสมที่สุดเท่าที่สามารถเป็นไปได้ กรณีศึกษารายที่ 2 ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากภาวะวิกฤต แต่ยังหลงเหลือความพิการบางส่วนที่ต้องไปฟื้นฟู และทำกายภาพบำบัดต่อที่บ้าน ซึ่งมีการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลชุมชน และการมาตรวจตามนัด