ประสิทธิผลของโปรแกรมฝังเข็มต่อการเลิกบุหรี่ของนักเรียนมัธยมศึกษาในคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) แบบ Two groups pretest posttest design เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมฝังเข็มต่อการเลิกบุหรี่ของนักเรียนมัธยมศึกษาในคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน กลุ่มทดลอง คือ กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาที่มารับบริการคลินิกเลิกบุหรี่ โรงพยาบาลบ้านโฮ่ง จำนวน 35 คน และกลุ่มควบคุม จำนวน 35 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Independent sample t-test และ Paired sample t-test โปรแกรมฝังเข็มต่อการเลิกบุหรี่ ประกอบด้วย กิจกรรมหลัก ได้แก่ การตรวจร่างกายเบื้องต้น การซักประวัติ การประเมินค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ (CO) การให้ความรู้พิษภัยบุหรี่และหลัก 5D ช่วยเลิกบุหรี่ และรับบริการการเลิกบุหรี่ด้วยการฝังเข็ม เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ๆ ละ 1 วัน โดยแพทย์ที่ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ผลการศึกษา พบว่า ค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ (CO) (Mean = 2.25, S.D. = 2.95) และจำนวนมวนบุหรี่ (Mean = 2.00 S.D. = 1.34) ระหว่างก่อนการทดลองและหลังการทดลองของกลุ่มทดลอง มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนมวนบุหรี่(Mean= 4.58, S.D. = 4.46) ภายหลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value<0.05) แต่ค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ (CO) (Mean = 2.50, S.D. = 4.35) ไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากในการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม อาจมีโอกาสได้รับควันบุหรี่มือสองและได้รับควันจากการเผาไหม้อื่น ๆ ได้ จากผลการวิจัยครั้งนี้ เสนอแนะให้ส่งเสริมการสร้างบทบาทเยาวชนแกนนำ เพื่อป้องกันการสูบบุหรี่ของนักสูบหน้าใหม่ในพื้นที่ โดยกลุ่มทดลองที่สามารถลดการสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และควรขยายการศึกษาการเลิกบุหรี่โดยการฝังเข็มในนักเรียน ให้ครอบคลุมในกลุ่มเสี่ยง สร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้ปกครอง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญสำหรับเด็ก ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มทดลอง ได้เป็นต้นแบบเลิกบุหรี่ และแชร์ประสบการณ์การฝังเข็มให้ผู้ที่สนใจเน้นเรื่องการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และการเลิกบุหรี่อย่างยั่งยืน