การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย Septic Shock แผนกงานหอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock แผนกงานหอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลวานรนิวาส
วัสดุและวิธีการศึกษา : การศึกษาแบบปฏิบัติการนี้ (Action Research) กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในแผนกหอผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลวานรนิวาส จำนวน 17 คน 2) กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย septic shock เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนักโรงพยาบาลวานรนิวาส จำนวน 20 คน ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2563 ขั้นตอนการศึกษา 1) Plan ทบทวนปัญหาและจัดทำแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock ที่สอดคล้องกับแนวทางการรักษา 2) DO พยาบาลที่ขึ้นเวรปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock ตามที่กำหนดไว้3 ) Check ศึกษาผลการใช้แนวปฏิบัติ และ 4) Act ปรับปรุงแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock เครื่องมือในการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้1) แบบสอบถามสำหรับพยาบาลผู้ปฏิบัติงานหอผู้ป่วยหนัก ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock แบบบันทึกการตรวจสอบกิจกรรมการพยาบาล และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock 2) แบบเก็บรวบรวมข้อมูลด้านผลลัพธ์ต่อผู้รับบริการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา : พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยหนัก ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 94.1 อายุไม่เกิน 30 ปี ร้อยละ 58.8 สถานภาพโสด ร้อยละ 58.8 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 100 ทำงานในโรงพยาบาลไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 58.8 และทำงานในหอผู้ป่วยหนักมาไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 94.1 ด้านการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock โดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยการปฏิบัติอยู่ในระดับดีมาก ( = 3.98, S.D.= 0.48) การพยาบาลในระยะวิกฤติ ( = 3.98, S.D.= 0.48) และการพยาบาลในระยะดูแลต่อเนื่อง ( = 3.99, S.D.= 0.50) อยู่ในระดับดีมากเช่นกัน ส่วนด้านผลลัพธ์ต่อผู้รับบริการพบว่าผู้ป่วย septic shock ได้เข้ารับการดูแลแบบภาวะวิกฤตที่หอผู้ป่วยหนักใช้เวลาเฉลี่ย 178.3 นาที (S.D.=74.9 นาที) และอัตราการได้รับการดูแลแบบภาวะวิกฤติของภาวะ septic shock ภายใน 3 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 60.0 ส่วนความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพต่อการใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock โดยภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด ( = 4.47, S.D.= 0.62)
ข้อสรุป : การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วย septic shock ทำให้การพยาบาลผู้ป่วย septic shock ได้มีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยปลอดภัย