ผลของการใช้เสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูก ต่อปริมาณการสูญเสียเลือดในมารดาสองชั่วโมงแรก หลังคลอด โรงพยาบาลวานรนิวาส
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการใช้เสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูกต่อปริมาณการสูญเสียเลือดในมารดาสองชั่วโมงแรกหลังคลอดโรงพยาบาลวานรนิวาส
วัสดุและวิธีการศึกษา : เป็นการศึกษากึ่งทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาในระยะสองชั่วโมงแรกหลังคลอดปกติทางช่องคลอด ที่มารับบริการคลอดที่ห้องคลอด โรงพยาบาลวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 34 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมกลุ่มละ 17 คน กลุ่มทดลองได้รับการดูแลตามปกติร่วมกับการใช้นวัตกรรมเสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูกในระยะสองชั่วโมงแรกหลังคลอด ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ ดำเนินการศึกษาในเดือนพฤษภาคม 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด แบบบันทึกการคลึงมดลูก แบบประเมินปริมาณการสูญเสียเลือด แบบสอบถามความพึงพอใจของมารดาหลังคลอดและผู้ให้บริการต่อการใช้เสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบจำนวนครั้งของการคลึงมดลูกและปริมาณการสูญเสียเลือดในระยะสองชั่วโมงแรกหลังคลอดระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติ Independent t-test
ผลการศึกษา : 1) ค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของการคลึงมดลูกในระยะสองชั่วโมงหลังคลอดของกลุ่มทดลอง ( =8.65, S.D.=0.86) สูงกว่ากลุ่มควบคุม ( =5.35, S.D.1.80) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.01) 2) ค่าเฉลี่ยของปริมาณการสูญเสียเลือดระยะสองชั่วโมงแรกหลังคลอดกลุ่มทดลอง ( =78.04, S.D.=10.85 ml) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ( =87.22,S.D.=9.50 ml) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.05) 3) ความพึงพอใจของมารดาหลังคลอดกลุ่มทดลองต่อการใช้เสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูกโดยภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก ( =4.18,S.D.=0.39) และ 4) ความพึงพอใจของผู้ให้บริการต่อการใช้เสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูกโดยภาพรวมมีค่าคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจระดับมาก ( =4.33,S.D.=0.52)
ข้อสรุป : การใช้นวัตกรรมเสียงโทรศัพท์ช่วยเตือนการคลึงมดลูกสำหรับมารดาในระยะสองชั่วโมงแรกหลังคลอด สามารถป้องกันการตกเลือดหลังคลอดจากภาวะมดลูกหดรัดตัวไม่ได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ