ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน จังหวัดหนองบัวลำภู
คำสำคัญ:
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์, พฤติกรรมการป้องกันการหกล้ม, ผู้สูงอายุบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระดับพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรม 6 ท่า เพื่อป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุระหว่างก่อนและหลังการปฏิบัติ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ข้อมูลส่วนบุคคล ลักษณะการหกล้ม สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และระดับความเสี่ยงต่อการหกล้มกับระดับพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรม 6 ท่าเพื่อป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ ในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) ศึกษาประชากรในจังหวัดหนองบัวลำภู อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 173 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2562 โดยใช้แบบสอบถาม ระดับความเสี่ยงต่อการหกล้ม (alpha =0.91) พฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อป้องกันการหกล้ม (alpha =0.89) ลักษณะการหกล้ม (IOC =0.85) และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย (IOC =0.83) โดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน, Chi-Square tests (c2), Paired samples t-test และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ Pearson
ผลการวิจัยพบว่า หลังดำเนินการผู้สูงอายุมีพฤติกรรมป้องกันการหกล้มโดยรวมมากกว่าก่อนดำเนินการ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) เพิ่มขึ้นมากที่สุดในท่าเหยียดขา ร้อยละ 48.2 ท่าเขย่งฝ่าเท้า ร้อยละ 40.2 และท่างอเข่า ร้อยละ 38.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05 พบว่า ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ดัชนีมวลกาย รายได้ต่อเดือน ฟันที่เหลือเคี้ยวได้ และจำนวนสมาชิกในบ้าน ลักษณะการหกล้ม การออกกำลังกาย สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และระดับความเสี่ยงต่อการหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชนมี 10 ปัจจัย ได้แก่ การรับรู้ การทรงตัว สภาพร่างกายทั่วไป และการพูด ความสามารถควบคุมการขับถ่าย การใช้ยา การมองเห็น ประวัติหกล้ม และภาวะโรคเรื้อรัง ตามลำดับ