ผลการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะน้ำเกิน คลินิกไตวายเรื้อรัง โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2563
คำสำคัญ:
การจัดการรายกรณี, ภาวะน้ำเกิน, ไตวายเรื้อรังบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียว วัดก่อนและหลังการทดลอง (Quasi-experimental research one group pre-test post-test design) เพื่อศึกษาผลการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะน้ำเกิน คลินิกไตวายเรื้อรัง โรงพยาบาลเขาวง กลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (purposive selection) คือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีภาวะน้ำเกิน อายุ 20 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะไตวายเรื้อรังระยะที่ 4-5 ที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกไตวายเรื้อรัง โรงพยาบาลเขาวง จำนวน 12 คนการศึกษาครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดการจัดการผู้ป่วยรายกรณี (Case Management) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แผนการดูแลผู้ป่วยไตเรื้อรัง (Care Map) คู่มือการให้ความรู้การปฏิบัติตัวโรคไตเรื้อรัง แบบประเมินภาวะน้ำเกินในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ผู้วิจัยสร้างจากภาวะน้ำเกิน แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วยต่อบริการพยาบาลหลังการได้รับการดูแลรายกรณี และแบบสอบถามความคิดเห็นของทีมสหสาขาวิชาชีพต่อรูปแบบการดูแลผู้ป่วยรายกรณี วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน Wilcoxon Signed – Ranks Tests
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างหลังใช้การจัดการรายกรณีมีภาวะน้ำเกินลดลงกว่าก่อนใช้การจัดการรายกรณี มีคะแนนความพึงพอใจต่อรูปแบบการบริการการจัดการรายกรณีโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุดร้อยละ 68.82 และผลการประเมินความคิดเห็นของทีมสหสาขาวิชาชีพต่อการดูแลผู้ป่วยรายกรณีโดยรวม มีระดับความคิดเห็น ระดับเห็นด้วยอย่างยิ่งร้อยละ 94.12