รูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
คำสำคัญ:
การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น, รูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นบทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้เป็นการวิจัยด้วยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ1) ศึกษาสถานการณ์และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ 2) วิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ3) สังเคราะห์ผลการวิจัยจากงานวรรณกรรมเพื่อนำไปสู่การปรับใช้ ทำการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่า 1) สถานการณ์และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์มีอัตราการตั้งครรภ์และคลอดในวัยรุ่นมีแนวโน้มลดลง แต่มีอุบัติการณ์การตายของหญิงตั้งครรภ์ในปี พ.ศ.2563 พบว่า เป็นมารดาวัยรุ่นที่เสียชีวิต 2 ราย และมารดาวัยรุ่นขอยุติการตั้งครรภ์ ปี พ.ศ. 2560-2562 มีจำนวน 18 ราย, 7 ราย และ 12 ราย ตามลำดับ 2)จากการวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พบว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั้งนี้พบว่ามีรูปแบบหรือวิธีการการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหลากหลายรูปแบบ 3) ผลการสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อนำไปสู่การปรับใช้ พบว่ารูปแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสะท้อนให้เห็นถึง ปัจจัยนำเข้าที่ทำให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรคือความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติ ที่สำคัญ คือสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับครอบครัว เพื่อน เทคโนโลยีและสื่อต่างๆ และกิจกรรมที่ส่งเสริมการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ประกอบด้วย กิจกรรมการเรียนรู้ โปรแกรมการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผ่านการให้ข้อมูลข่าวสาร และรูปแบบการป้องกันแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยรุ่น โดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขเป็นแกนนำหลัก ทั้งนี้ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ประกอบด้วย ผลกระทบในระดับบุคคลนั้น ผลกระทบในระดับครอบครัว ผลกระทบในระดับประเทศ ข้อเสนอแนะ ควรมีการส่งเสริมให้มีการดำเนินงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับทั้งในโรงพยาบาลและหน่วยงาน ทั้งยังควรมีการออกแบบบริการเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อีกทั้งควรมีการส่งเสริมเชิงนโยบายเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นทั้งในระดับประเทศ ชุมชนและครอบครัวและควรมีการศึกษาเชิงพัฒนา เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น