รูปแบบการป้องกันภาวะการขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
คำสำคัญ:
ความรู้, การรับรู้, พฤติกรรม, หญิงตั้งครรภ์, ไอโอดีนในปัสสาวะบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการป้องกันภาวะการขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะมากว่า 100 ไมโครกรัม/ลิตร และปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 100 ไมโครกรัม/ลิตร กลุ่มละ 45 คน ดำเนินการวิจัยระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – สิงหาคม 2563 ด้วยการสัมภาษณ์จากแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นประกอบด้วย ความรู้ การรับรู้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ การปฏิบัติตนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและการได้รับข้อมูลข่าวสาร ตรวจสอบความตรงและความเที่ยงด้วยค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach’ s Alpha Coeffiient) เท่ากับ 0.81 , .94 และ .87 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา Chi squares test และ t – test ผลการวิจัยพบว่า
1. ความรู้เกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ที่ไอโอดีนในปัสสาวะมากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 60.0 รองลงมา คือ ระดับมาก ร้อยละ 26.7 การรับรู้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพโดยรวม การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารไอโอดีน และการรับรู้ผลดีของการปฏิบัติในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนอยู่ในระดับมาก ระดับปานกลาง ได้แก่ การรับรู้ความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีนและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 55.60
2. ความรู้เกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ที่ไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 64.4 รองลงมา คือ ระดับน้อย ร้อยละ 26.7 การรับรู้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ อยู่ในระดับปานกลาง และ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารไอโอดีน การรับรู้ความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีน การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน อยู่ในระดับปานกลาง พฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีน ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 68.9
3. ความรู้เกี่ยวกับโรคขาดสารไอโอดีน การรับรู้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ และ การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคขาดสารไอโอดีน การรับรู้ความรุนแรงของโรคขาดสารไอโอดีน การรับรู้ผลดีของการปฏิบัติในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติตนในการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พฤติกรรมการป้องกันการขาดสารไอโอดีนของหญิงตั้งครรภ์ที่ไอโอดีนในปัสสาวะ > 100 µg/l ดีกว่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไอโอดีนในปัสสาวะ < 100 µg/l (p < .05)