ประสิทธิผลการพัฒนารูปแบบการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • นิตยา สุภามา โรงพยาบาลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น

คำสำคัญ:

การพัฒนารูปแบบ, การคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลการพัฒนารูปแบบการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างได้มาจากการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพและเจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน จำนวน 13 คน เก็บรวบรวมข้อมูล    ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31  ตุลาคม  2563 ตามกรอบแนวคิดการวิจัย Kemmis & McTaggart ประกอบด้วย 1) การวางแผนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น 2) ลงมือปฏิบัติการตามแผน 3) การสังเกตการณ์ และ 4) การสะท้อนกลับกระบวนการและผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อปรับปรุงแผนการปฏิบัติงาน เครื่องมือการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความรู้และทักษะการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉิน แบบประเมินคุณภาพการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน และแบบประเมินความพึงพอใจรูปแบบการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน คุณภาพเครื่องมือการวิจัย เท่ากับ 0.88 และ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบค่าที และค่าสัมประสิทธิ์โคเฮนแคปปา ผลการวิจัยพบว่า รูปแบบการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉินทำให้การคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉินมีความถูกต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 82 ความคลาดเคลื่อนของการประเมินสูงกว่าเกณฑ์ลดลงเหลือร้อยละ7.33 และ ความคลาดเคลื่อนของการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงเหลือร้อยละ 10.67 ค่าความสอดคล้องของผลการประเมินระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (Cohen’s kappa coefficient =.775) ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจรูปแบบที่พัฒนาขึ้นใหม่มากกว่าก่อนการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 (p-value .003) ดังนั้น รูปแบบการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉินที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถนำไปใช้กับโรงพยาบาลบ้านฝางได้อย่างมีประสิทธิผล โดยมีข้อเสนอแนะว่า  ควรมีการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการคัดแยกประเภทผู้ป่วยฉุกเฉิน  โรงพยาบาลบ้านฝางโมเดลอย่างต่อเนื่อง  และควรนำเวลาที่ใช้ในการรอรับการรักษาในผู้ป่วยแต่ละระดับเปรียบเทียบค่าระยะเวลารอคอยมาตรฐาน มาใช้ปรับปรุงรูปแบบการคัดแยกประเภทผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30