การพัฒนาโปรแกรมจิตสังคมบำบัดผู้ป่วยโรคติดสุราต่อพฤติกรรมการลดหรือหยุดดื่มสุรา

ผู้แต่ง

  • อรุณี โสตถิวนิชย์วงศ์ โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์

คำสำคัญ:

จิตสังคมบำบัด, ผู้ป่วยโรคติดสุรา, พฤติกรรมการลดหรือหยุดดื่มสุรา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมจิตสังคมบำบัดผู้ป่วยโรคติดสุราต่อพฤติกรรมการลดหรือหยุดดื่มสุรา ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม และ 2) ขั้นตอนการทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม กลุ่มตัวอย่างมี 2 กลุ่มที่สอดคล้องกับขั้นตอนการทำวิจัยคือ 1) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ คือ จิตแพทย์ 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 4 คน พยาบาลผู้ปฏิบัติการขั้นสูง 1 คน ผู้ดูแล 4 คน และผู้ป่วย 4 คน สำหรับขั้นตอนการพัฒนาโปรแกรม และ2) ผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมรุนแรง 60 คนสำหรับขั้นตอน,กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคติดสุรา จำนวน 60 คน สุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน มีลักษณะคล้ายกัน เครื่องมือที่ใช้การวิจัยประกอบด้วย 1) โปรแกรมจิตสังคมบำบัดผู้ป่วยโรคติดสุราต่อพฤติกรรมการลดหรือหยุดดื่มสุรา  2) แบบบันทึกพฤติกรรมการดื่มสุรา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ

             ผลการศึกษา พบว่า 1) โปรแกรมจิตสังคมบำบัดผู้ป่วยโรคติดสุราต่อพฤติกรรมลดหรือหยุดดื่มสุราประกอบด้วย 8 กิจกรรม ได้แก่ การบำบัดครั้งที่ 1 สร้างความตระหนักในปัญหาการใช้สุรา ครั้งที่ 2 วงจรอุบาทที่กลับไปดื่มซ้ำ ครั้งที่ 3 รู้จักความคิดอัตโนมัติและปลูกสร้างความคิดใหม่ ครั้งที่ 4 จัดการสถานการณ์เสี่ยงและจัดการความรู้สึกอยากสุรา ครั้งที่ 5 ป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ ครั้งที่ 6 พัฒนาทักษะปฏิเสธ ครั้งที่ 7 ตอกย้ำเป้าหมายให้มั่นคง ครั้งที่ 8 วางแผนการใช้ชีวิต 2) ค่าเฉลี่ยร้อยละจำนวนวันที่ดื่มหนักของผู้ป่วยโรคติดสุราก่อนรับการบำบัดและหลังจำหน่ายครบ 1เดือน 2 เดือนและ 3 เดือนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ   (F 3,174= 98.765, p=<.01) นอกจากนี้ยังพบว่ามีปฏิสัมพันธ์ของวิธีการทดลองกับระยะเวลาในการทดลองมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดื่มสุราอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F3,174 = 413.723 , p=<.01) ค่าเฉลี่ยร้อยละจำนวนวันที่หยุดดื่มของผู้ป่วยโรคติดสุราก่อนรับการบำบัดและหลังจำหน่ายครบ 1 เดือน 2 เดือนและ 3 เดือนของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F 3,174= 64.017, p=<.01 ) และยังพบว่า มีปฏิสัมพันธ์ของวิธีการทดลองกับระยะเวลาในการทดลองมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการดื่มสุราอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F 3,174 = 413.72 , p=<.01)         

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-30