อุบัติการณ์และปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นชนิดความเสี่ยงสูง โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

ผู้แต่ง

  • ภวพล ศิริสรรหิรัญ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช

คำสำคัญ:

อุบัติการณ์, ปัจจัย, ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นชนิดความเสี่ยงสูง

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ และปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นชนิดความเสี่ยงสูง เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น และได้รับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นภายใน 72 ชั่วโมง ระหว่างเดือน ตุลาคม 2560 ถึง กันยายน 2563 จำนวน 320 คน เครื่องมือเป็นแบบบันทึก 5 ส่วน ประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล ปัจจัยสนับสนุน ปัจจัยทางคลินิค การรักษาก่อนส่องกล้อง ผลการวินิจฉัยและผลการรักษา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา จำนวน  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และความสัมพันธ์ด้วย  logistic regression

             ผลการวิจัย: จากจำนวนผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นจำนวน 320 คน พบกลุ่มความเสี่ยงสูงจำนวน 72 คน (22.50%) ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (55.56%) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร (66.67%) รองลงมาจากแผลลำไส้เล็กส่วนต้น (33.33%) ชนิดของแผลส่วนใหญ่เป็นชนิด Forrest I (38.9%) รองลงมาเป็นชนิด Forrest IIa (33.33%) การรักษาส่วนใหญ่โดย Diluted adrenaline injection with heater probe (72.20%) รองลงมา Diluted adrenaline injection alone (16.70%) หยุดเลือดไม่สำเร็จด้วยการส่องกล้องจำนวน 1 ราย (1.38%) และได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นชนิดความเสี่ยงสูงพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์, การใช้ยากลุ่ม NSAIDs, Blood urea nitrogen ≥ 25 mg/dl, Pulse rate ≥ 100 ครั้ง/นาที, อาการแสดงอาเจียนเป็นเลือด, อาเจียนเป็นเลือด & อุจจาระเหลวสีดำ, อาเจียนเป็นเลือด & ถ่ายเป็นเลือด, ความดันต่ำที่ได้รับ IV fluid resuscitation > 2 ลิตร, Glasgow Blatchford score ≥ 5 มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-03-30