ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่มารับบริการที่โรงพยาบาลซำสูง จังหวัดขอนแก่น

ผู้แต่ง

  • นารีรัตน์ มงคลศรีสวัสดิ์ กลุ่มงานการแพทย์ โรงพยาบาลซำสูง

คำสำคัญ:

ภาวะซึมเศร้า, ผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง ความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่มารับบริการที่โรงพยาบาลซำสูง จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกภาวะซึมเศร้าและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ที่มารับบริการที่คลินิกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลซำสูง อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Descriptive Study) ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึง 31 สิงหาคม 2564 รวมระยะเวลา 6 เดือน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้สูงอายุที่ได้รับการการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นโรคเรื้อรัง จำนวน 239 คน เก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดย สถิติเชิงพรรณา (Descriptive Statistics) ได้แก่ การแจกแจงความถี่ (Frequency Distribution) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ( x̄ ) และ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( S.D.)สถิติเชิงอนุมาน ( Inferential Statistics ) ได้แก่ logistic regression

          ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่มารับบริการที่โรงพยาบาลซำสูง จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ จำนวนโรคเรื้อรัง มากกว่า 1 โรค ซึ่งมีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่า ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง 1 โรค จำนวน 6.240 เท่า ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง มีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่า ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้ จำนวน 24.865 เท่า การอยู่ตามลำพังมีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีครอบครัว จำนวน 42.586 เท่า ความสัมพันธ์กับบุคคลในครอบครัวมีความขัดแย้งในครอบครัวและต่างคนต่างอยู่ มีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัว จำนวน 52.081 เท่า ผู้สูงอายุที่มีความกังวลเรื่องเงินมีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีความกังวลเรื่องเงิน จำนวน 24.682 เท่า การที่ไม่มีการปรึกษา/ปรับทุกข์กับคนในชุมชน มีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัว จำนวน 25.199 เท่า และการไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนใน 1 ปี ที่ผ่านมามีโอกาสป่วยเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุที่มีส่วนร่วมกิจกรรม จำนวน 5.103 เท่า

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-30