การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรัง โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติทางการพยาบาล, ผู้ป่วยไตเรื้อรังบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและการพัฒนา เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาล และศึกษาผลลัพธ์ของการใช้แนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรัง โดยใช้กรอบแนวคิดในการพัฒนาการปฏิบัติตามหลักฐานเชิงประจักษ์ของซูคัพ กลุ่มตัวอย่าง คือพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานที่งานผู้ป่วยนอก 10 ราย งานผู้ป่วยใน 20 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แนวปฏิบัติทางการพยาบาลเพื่อส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรัง แบบประเมินความรู้เรื่องการพยาบาลผู้ป่วยไตเรื้อรัง แบบประเมินกระบวนการพยาบาลสำหรับพยาบาลวิชาชีพผู้ใช้แนวปฏิบัติทางการพยาบาล และแบบสอบถามความพึงพอใจของพยาบาล วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบผลลัพธ์ ก่อน-หลังการพัฒนาโดยการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรัง โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ แบ่งเป็น 4 ระยะคือ 1) ศึกษาสถานการณ์ที่ยังไม่มีแนวปฏิบัติทางการพยาบาลเพื่อส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ชัดเจน 2) สืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 3) พัฒนาแนวปฏิบัติและทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย 4) ประเมินผลลัพธ์ของการใช้แนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้ง 4 หมวด พบว่าค่าเฉลี่ยหลังการพัฒนาอยู่ในระดับดี (mean = 27.13, S.D. = 2.13) พยาบาลวิชาชีพมีความรู้เรื่องการพยาบาลไตเรื้อรัง หลังการพัฒนาสูงกว่าก่อนพัฒนาและมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (P<.001) และค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพต่อการใช้แนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรัง หลังการพัฒนาเพิ่มขึ้นกว่าก่อนพัฒนาและมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (P<.001) จากผลการศึกษาเสนอแนะว่า ควรนำแนวปฏิบัติทางการพยาบาลดังกล่าวไปใช้พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยในคลินิกไตเรื้อรัง และประยุกต์ใช้ในหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป