การพยาบาลแบบองค์รวมในผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่มีความเสี่ยงสูง : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • วิไลลักษณ์ ภูจอมจิตฆ์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

มะเร็งท่อน้ำดี, การพยาบาลองค์รวม

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นกรณีศึกษา 2 ราย เพื่อเปรียบเทียบการดูแลรักษาและกระบวนการพยาบาลผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีจำนวน 2 ราย และนำผลการศึกษาไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผลการศึกษา พบว่ากรณีศึกษารายที่ 1 ผู้ป่วยวัยกลางคน มีโรคร่วมคือเบาหวานและความดันโลหิตสูง มีประวัติชอบรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ปลาส้มและปลาร้าดิบ มีอาการปวดแน่นท้องมาก ตาตัวเหลืองมาก แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น Cholangiocarcinoma  ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมารับการรักษาแบบใส่ท่อระบายน้ำดี PTBD เพื่อลดอาการปวดแน่นท้อง ผู้ป่วยรับรู้เรื่องโรค ปฏิเสธการผ่าตัดเนื่องจากมีความกลัวการผ่าตัด จึงได้รับการรักษาตามอาการและผู้ป่วยมีความสนใจการรักษาแบบทางเลือกคือการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อลดความปวดแต่เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะการคั่งของบิลิรูบิลสูง จึงไม่สามารถให้น้ำมันกัญชาได้เพราะจะมีผลต่อการทำงานของตับ ผู้ป่วยและญาติรับทราบ เข้าใจแนวทางการรักษาขอรับการรักษาแบบประคับประคองต่อที่บ้าน กรณีศึกษารายที่ 2 เป็นผู้สูงอายุ มีโรคร่วมคือโรคเบาหวาน 1 วันก่อนมาโรงพยาบาลมีอาการปวดแน่นท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย 4 เดือนก่อนมามีอาการตา ตัวเหลือง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมกับอาการปวดแน่นท้องใต้ชายโครงขวา และปัสสาวะออกดีสีเหลืองเข้ม ในช่วงเป็นหนุ่มดื่มเหล้า สูบบุหรี่เลิกมาแล้วประมาณ 5 ปี มีประวัติชอบรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ  ปลาส้มดิบ ก้อยปลา ก้อยกุ้งเป็นกับแกล้มเวลาดื่มเหล้า ผลตรวจ CT scan เป็น Cholangiocarcinoma รับการรักษาโดยการผ่าตัด Hepatectomy (Rt.)  มีภาวะแทรกซ้อนคือหลังผ่าตัดไม่สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 4 วัน มีไข้ เกลือแร่โพแทสเซียมต่ำ ได้รับการดูแลในขณะใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้รับยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและยารักษาตามแผนการรักษาจนกระทั่งอาการดีขึ้น หายใจได้เอง รับประทานอาหารอ่อนได้ จำหน่ายกลับบ้านพร้อมมีท่อ JD ที่บริเวณหน้าท้อง นัดพบแพทย์อีก 2 สัปดาห์ รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาล 11 วัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-30