การพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด จากการติดเชื้อบริเวณช่องเยื่อหุ้มคอชั้นลึกในโพรงใต้คาง : กรณีศึกษา
คำสำคัญ:
การติดเชื้อในกระแสเลือด, การติดเชื้อบริเวณช่องเยื่อหุ้มคอชั้นลึกในโพรงใต้คางบทคัดย่อ
การอักเสบในช่องเยื่อหุ้มคอชั้นลึก เป็นการอักเสบในช่องว่างระหว่างชั้นเยื่อหุ้มกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณคอ เป็นได้ทั้งการอักเสบแบบมีหนองหรือไม่มีหนอง ผู้ป่วยมักมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและภาวะพร่องออกซิเจนจากทางเดินหายใจอุดกั้น ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่รุนแรง จากสถิติในโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช พบผู้ป่วยจำนวนน้อย ปี 2560-2563 พบจำนวน 3 ราย แต่เป็นผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต การพยาบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยชายไทยอายุ 71 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ด้วยประวัติปวด บวม บริเวณคาง 2 ข้าง อ้าปากได้น้อย ร่วมกับมีไข้ 3 วันก่อนมาโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีฟันผุเรื้อรังในช่องปากเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการรักษา มีภาวะเบาหวานรักษาต่อเนื่อง การวินิจฉัยแรกรับ Deep neck infection ผล CT neck พบ Fluid collection left parapharyngeal space with extend to right masticator space แรกรับผู้ป่วยมีอาการแสดงของการติดเชื้อในกระแสเลือด และเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนจากทางเดินหายใจอุดกั้น ผู้ป่วยซึม SOS score 4 คะแนน สัญญาณชีพผิดปกติ มีไข้ ชีพจรเร็ว หายใจเหนื่อย O2 Saturation 92% ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉินโดยใส่ท่อหลอดลมคอต่อเครื่องช่วยหายใจ ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ค้นหาแหล่งของการติดเชื้อ ส่งเลือดเพาะเชื้อ และให้ยาปฏิชีวนะทันที ใส่สายสวนคากระเพาะปัสสาวะ เพื่อประเมินภาวะไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยส่งตัวมารักษาในห้องผู้ป่วยหนักศัลยกรรม ได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อทำผ่าตัด Incisional & drainage and Tracheostomy tube ใช้เวลาผ่าตัด 50 นาที ในระยะหลังผ่าตัด 24-48 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยรู้สึกตัว ซึม ยังมีการติดเชื้อในกระแสเลือด SOS score 4-5 คะแนน ดูแลให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ร่วมกับบริหารยา Levophed อย่างถูกต้อง ประเมินจำนวนปัสสาวะทุก 1 ชั่วโมง ไม่พบภาวะไตวายเฉียบพลัน ผู้ป่วยมีภาวะพร่องออกซิเจน ดูแลผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมปริมาตร ประเมินสัญญาณชีพ O2 Saturation ต่อเนื่อง ใช้มาตรการ VAP bundle ระวังการสูดสำลักในขณะให้อาหารทางสายยาง ดูแลผู้ป่วยเจาะคอตามมาตรฐาน จนภาวะพร่องออกซิเจนดีขึ้น ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอักเสบจากสารน้ำออกนอกหลอดเลือดในระหว่างให้ยา Levophed ได้บริหารยาตามมาตรฐาน ตรวจสอบตำแหน่งที่ให้สารน้ำอย่างต่อเนื่อง ไม่พบภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยมีการติดเชื้อในช่องปาก ผลเพาะเชื้อพบ Klebsella Pneumonae ได้ดูแลบาดแผลอย่างถูกวิธี และการดูแลความสะอาดในช่องปาก ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลด้านจิตใจ เพื่อลดความวิตกกังวล ต่อมาจึงวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยเพื่อย้ายไปหอผู้ป่วยสามัญ ตา หู คอ จมูก จากการติดตามเยี่ยมผู้ป่วย คางยุบบวมลง สัญญาณชีพปกติ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและครอบครัวดูแลท่อเจาะคอ ดูแลความสะอาดในช่องปาก รวมถึงการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ผู้ป่วยกลับบ้านในวันที่ 13 กันยายน 2564 รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาล 10 วัน