การพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มีภาวะระบบหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ; กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
การพยาบาล, โรคไวรัสโคโรน่า 2019, ระบบหายใจล้มเหลวบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการให้การพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มีภาวะระบบหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลันโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ศึกษาในผู้ป่วย 2 ราย เลือกแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มีภาวะระบบหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตโรคติดเชื้อทางอากาศ(ICU cohort ward) โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โดยศึกษาประวัติผู้ป่วย การรักษาพยาบาล รวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วย ญาติและเวชระเบียนของผู้ป่วย มีการประเมินสภาพ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพื่อให้ทราบปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยโดยใช้แนวคิดแบบประเมินผู้ป่วยตามแผนทางด้านสุขภาพ 11 แบบแผนของกอร์ดอน นำข้อมูลที่ได้ มาวางแผนเพื่อให้การพยาบาลตามกระบวนการพยาบาล มีการกำหนดข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่ครอบคลุมองค์รวม ปฏิบัติการพยาบาล และการประเมินผลการพยาบาลอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการวางแผนการจำหน่าย จนกระทั่งจำหน่ายกลับบ้าน
ผลการศึกษาพบว่า กรณีศึกษาที่ 1 เพศหญิงอายุ 33 ปี มีโรคประจำตัวโรคเบาหวาน ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง เชื้อไวรัสลงปอด มีฝ้าขาวที่ปอดทั้งสองข้าง ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน ได้รับการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง การจัดท่านอนคว่ำ ให้การพยาบาลตามมาตรฐาน และการให้ยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ในหอผู้ป่วยวิกฤตโรคติดเชื้อทางอากาศ(ICU cohort ward) ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และสามารถพ้นจากภาวะวิกฤตได้ แต่เนื่องจากผู้ป่วยมีโรคเบาหวานทำให้ขณะรับการรักษาผู้ป่วยรายนี้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงต้องให้อินซูลินร่วมด้วย และใช้เวลาปรับยาลดระดับน้ำตาล ทำให้ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ป่วยรายที่ 2 รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาล 21 วัน กรณีศึกษาที่ 2 เพศชายอายุ 38 ปี ปฏิเสธโรคประจำตัว ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019จากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง เชื้อไวรัสลงปอด เกิดฝ้าขาวที่ปอดทั้งสองข้าง ส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน ได้รับการให้ออกซิเจนอัตราการไหลสูง การจัดท่านอนคว่ำให้การพยาบาลตามมาตรฐาน และการให้ยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ในหอผู้ป่วยวิกฤตโรคติดเชื้อทางอากาศ(ICU cohort ward) โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และสามารถพ้นจากภาวะวิกฤตได้และสามารถหย่าออกซิเจนได้ขณะรับการรักษาผู้ป่วยรายนี้แข็งแรงมีการฟื้นตัวเร็วรวมระยะเวลานอนโรงพยาบาล 11 วัน