การประเมินระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ปี 2563
คำสำคัญ:
โรคไข้เลือดออกบทคัดย่อ
โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เป็นปัญหาในพื้นที่จังหวัดนครปฐม โดยปีงบประมาณ 2564 โรคไข้เลือดออกได้รับการเลือกให้เป็นยุทธศาสตร์หลักในเรื่องของปัญหาโรคติดต่อที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สถานการณ์ที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2561 จังหวัดนครปฐม มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย เมื่อวิเคราะห์พื้นที่ในจังหวัดนครปฐมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั้น (ปี พ.ศ. 2560-2562) พบอำเภอนครชัยศรีติดอันดับ 1 ใน 3 อำเภอที่พบของการระบาดในโรคไข้เลือดออกมากที่สุด โดยในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานั้นอำเภอนครชัยศรี พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัดนครปฐม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม วิธีการศึกษาศึกษาในรูปแบบภาคตัดขวาง (cross sectional study) แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. การศึกษาเชิงพรรณนา มีการทบทวนเวชระเบียนทั้งในผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก เพื่อนำมาหาค่าความไว และค่าพยากรณ์บวกเปรียบเทียบกับ นิยามเชิงปฏิบัติการของโรงพยาบาล และนิยามตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค รวมจำนวนการศึกษาในครั้งนี้ 667 เวชระเบียน 2. การศึกษาเชิงคุณภาพ ผู้ศึกษาได้ดำเนินการสัมภาษณ์ส่วนที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาล ผู้บริหาร, ผู้ปฏิบัติหน้างาน ในระบบการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก
ผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของผลการประเมินระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ปี 2563 พบค่าความไวอยู่ที่ 65% และและค่าพยากรณ์บวกในระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก 61% อยู่ในเกณฑ์ระดับปานกลาง ผลการประเมินพบความทันเวลา ความถูกต้องข้อมูล พบมีความถูกต้อง 100% ส่วนที่พบปัญหา คือ วันเริ่มป่วยพบบางโรงพยาบาลมีความถูกต้อง ร้อยละ 40 การประเมินในด้านคุณภาพ ความเป็นตัวแทน ความยากง่าย ความยืดหยุ่นของระบบเฝ้าระวัง (Flexibility) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีการจัดเก็บข้อมูล ระบบ และแนวทางการดำเนินงานที่ชัดจน เป็นขั้นตอน มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และดูแนวโน้มของการระบาด ผลการศึกษาค่าความไว และค่าพยากรณ์บวก เมื่อนำเวชระเบียนมาทบทวน และเปรียบเทียบกับนิยามตามแนวทางปฏิบัติงานในโรงพยาบาล และนิยามตามเกณฑ์มาตรฐานกรมควบคุมโรค พบค่าความไว และค่าพยากรณ์บวกในอำเภอนครชัยศรีเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เมื่อแยกการประเมินทั้ง 3 โรงพยาบาลในครั้งนี้ พบค่าความไว และค่าพยากรณ์บวก อยู่ในลักษณะกลุ่มใกล้เคียงกัน คืออยู่ในช่วงของปานกลาง และดี