การพยาบาลผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน : กรณีศึกษา 2 ราย
คำสำคัญ:
การพยาบาล, โรคปอดอักเสบรุนแรง, ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะราย (case study) เพื่อเปรียบเทียบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน จำนวน 2 ราย ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 2 โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูล รวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย 2) การสังเกต สัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบตามแบบแผนสุขภาพ พยาธิสภาพ อาการแสดง และการรักษา 3) แบบบันทึกทางการพยาบาล โดยใช้แนวคิดแบบประเมินผู้ป่วยตามแบบแผนทางด้านสุขภาพ 11 แบบแผนของกอร์ดอน เพื่อให้ทราบปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย นำข้อมูลที่ได้มาวางแผนให้การพยาบาลผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน กำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล ให้การพยาบาล และประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาลใน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะวิกฤต ระยะฟื้นฟูสภาพ และระยะก่อนจำหน่าย
กรณีศึกษาผู้ป่วยทั้งสองรายเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือโดยการใส่ท่อช่วยหายใจร่วมกับการใช้เครื่องช่วยหายใจเหมือนกัน แต่มีความรุนแรงของโรค ภาวะแทรกซ้อนขณะทำการรักษา และระยะเวลาในการรักษาที่แตกต่างกันตามปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค พบว่ากรณีศึกษารายที่ 1 ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรัง มาด้วยหายใจหอบเหนื่อย ไม่มีไข้ ไอมีเสมหะ ร่วมกับมีภาวะน้ำเกิน ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานจนกระทั่งปัญหาในระยะต่างๆได้รับการแก้ไข ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน สามารถจำหน่ายกลับบ้านได้ รวมระยะเวลาในการรักษาทั้งหมด 6 วัน กรณีศึกษารายที่ 2 ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวคือ โรคกระดูกสันหลังคด ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขาลีบทั้งสองข้าง มาด้วยอาการไอสำลักอาหารเข้าปอด หายใจหอบเหนื่อย มีไข้ ขณะรับการรักษามีภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐานจนกระทั่งปัญหาในระยะต่างๆได้รับการแก้ไข แต่ยังคงต้องได้รับการรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง จำหน่ายโดยส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน รวมระยะเวลาในการรักษาทั้งหมด 27 วัน