ผลของการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของทีมสุขภาพและครอบครัวต่อการตัดสินใจล้างไต ทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
คำสำคัญ:
Patients with end-stage renal failure, peritoneal dialysis decision, participation and supportบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองชนิดสองกลุ่ม เพื่อศึกษาผลของการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของทีมสุขภาพและครอบครัวต่อการตัดสินใจล้างไตทางช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รักษาที่คลินิกโรคไตโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ กลุ่มทดลอง 43 ราย กลุ่มควบคุม 86 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้แบบวัดความรู้เกี่ยวกับโรคไตวายระยะสุดท้ายและพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดไตเสื่อม แบบวัดการเลือกวิธีบำบัดทดแทนไต โดยกลุ่มทดลองได้รับการความรู้กล้างไตทางช่องท้องร่วมกับครอบครัวร่วมรับฟังคำปรึกษาและร่วมตัดสินใจ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เวลา 4 สัปดาห์ เยี่ยมบ้านติดตามการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลอุตรดิตถ์โดยการช่วยเหลือจากทีมสุขภาพและองค์กรอื่นๆ จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที กลุ่มควบคุมได้รับคำปรึกษาบำบัดทดแทนไตตามมาตรฐานเดิม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอนุมาน ได้แก่ Chi square test, Dependent t-test และ Independent t-test ที่ระดับนัยสำคัญ .05 ผลการวิจัยพบว่า
- หลังการทดลองผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังกลุ่มทดลองมีความรู้เกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังและพฤติกรรมเสี่ยงต่อไตเสื่อมดีกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) กลุ่มควบคุมมีความรู้เกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังและพฤติกรรมเสี่ยงต่อไตเสื่อมก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน (p > .05) และความรู้เกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังและพฤติกรรมเสี่ยงต่อไตเสื่อมของกลุ่มทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
- หลังการทดลองผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกลุ่มทดลองตัดสินใจล้างไตทางช่องท้อง(Peritoneal Dialysis: PD) ร้อยละ 74.4 ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายกลุ่มควบคุมตัดสินใจล้างไตทางช่องท้อง(Peritoneal Dialysis: PD) ร้อยละ 46.5 และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
- หลังการทดลองระยะเวลาเตรียมสถานที่ล้างไตและระยะเวลารอใส่สายล้างไตของกลุ่มทดลองต่ำกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)