ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวาน ในโรงพยาบาลหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบ Unmatched case-control เพื่อหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นวัณโรคปอดในผู้ป่วยเบาหวาน ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 516 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มศึกษา(Case)ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยเป็นวัณโรคปอด จำนวน 172 คน และกลุ่มควบคุม(Control) ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้ป่วยเป็นวัณโรคปอด จำนวน 344 คน วิเคราะห์ข้อมูลลักษณะบุคคลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรเชิงเดี่ยว โดยใช้สถิติ Simple logistic regression หาขนาดความสัมพันธ์ใช้ Odds ratio (OR) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรพหุโดยใช้สถิติ Multiple logistic regression แสดงผลด้วยค่า Adjusted odds ratio (OR adj ) และช่วงเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 (95% CI )
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 516 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 60.66 เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ตัวแปรพหุ ด้วยสถิติ Multiple logistic regressionพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดวัณโรคปอด ได้แก่ รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท/เดือน(OR adj =1.53, 95 % CI=0.35-0.80) การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์(OR adj = 31.70, 95 % CI=12.08-83.23) การสูบบุหรี่ (OR adj = 31.70, 95 % CI=12.08-83.23) ระดับน้ำตาลในเลือด( HbA1c ≥7mg% ) (OR adj = 3.51, 95 % CI=1.19-10.33) ระยะเวลาการป่วยเป็นเบาหวาน≥10 ปี (OR adj = 9.35, 95 % CI=1.66-52.77) การมีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน(OR adj = 4.34, 95 % CI=59.98-75.95) การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค (OR adj =3.17, 95 % CI=0.00-0.17) และการอาศัยอยู่ชุมชนแออัด (OR adj = 3.85, 95 % CI=12.88-37.07)
สรุปจากผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นวัณโรคในผู้ป่วยเบาหวานมีหลายปัจจัยซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการควบคุมและป้องกันวัณโรค อันเป็นปัญหาที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ควรมีการเฝ้าระวัง และคัดกรองโรคในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงผู้ป่วยในคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆส่งเสริมศักยภาพในการเฝ้าระวัง
และติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทั้งในระดับโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนรวมทั้งในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ