ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมงแรกของหญิงตั้งครรภ์ ที่มาคลอดที่โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ผู้แต่ง

  • ถิรนัน สาสุนีย์ Photharam Hospital

คำสำคัญ:

ตกเลือดหลังคลอด , หญิงตั้งครรภ์ , ปัจจัยเสี่ยง

บทคัดย่อ

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง (Retrospective analytic study) มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะตกเลือดหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมงแรกของหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดที่โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรีโดยเก็บข้อมูลจากเวชระเบียนหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งที่คลอดทางช่องคลอดและผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง จนถึง  24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดที่มาคลอดที่โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ.2564 เป็นระยะเวลา 3 ปี จำนวน 3,134 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบบันทึกการเก็บข้อมูล โดยสอบถามข้อมูลปัจจัยด้านทารก  ปัจจัยด้านมารดาขณะตั้งครรภ์ ปัจจัยด้านการคลอด  และการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมงแรกของหญิงตั้งครรภ์  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วยสถิติพรรณา ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ และสถิติอ้างอิง ได้แก่ Chi-square test

ผลการศึกษา: พบว่า การตั้งครรภ์และการคลอดตั้งแต่ 4 ครั้งขึ้นไป ภาวะซีด ประวัติตกเลือดหลังคลอด การได้รับยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกเป็นเวลานานเกิน 8 ชั่วโมง การคลอดล่าช้า ทั้งระยะที่1 และ ระยะที่2 การเร่งคลอด การตัดฝีเย็บ ปากมดลูกฉีกขาด การคลอดเฉียบพลัน ภาวะรกค้าง และประสบการณ์ผู้ทำคลอด มีความสัมพันธ์กับภาวะตกเลือดหลังคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-Value<0.05) ส่วนปัจจัยอื่น ได้แก่ อายุมารดา ทารกตัวโต ทารกที่มีส่วนนำไม่ใช่ศีรษะ การตั้งครรภ์แฝด การตั้งครรภ์แฝดน้ำ ทารกตายในครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะน้ำคร่ำติดเชื้อ ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด การใช้สูติศาสตร์หัตถการช่วยคลอด และการคลอดติดไหล่ ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมงแรกของหญิงตั้งครรภ์

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-30