การพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยกลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสำหรับองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าของชำในการเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบ ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

ผู้แต่ง

  • อินทนนท์ อินทนพ

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, กลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม, องค์กรชุมชน,ผู้ประกอบการร้านค้าของชำ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาโดยมุ่งพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยกลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสำหรับองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าของชำในการเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบ ตำบลสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด การวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบ ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยกลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมสำหรับองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าของชำในการเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบ และระยะที่ 3 เพื่อศึกษาผลของการพัฒนาฯ ใช้ระยะเวลาในการวิจัย 5 เดือน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง รวมทั้งหมด 43 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ 4 ชุด แบบสังเกต 1 ชุด และแบบรายงาน 1 ชุด ผลการวิจัยระยะ     ที่ 1 ซึ่งเป็นสถานการณ์ก่อนการขับเคลื่อนงานวิจัยพบว่าข้อมูลการบริโภคยาสูบพบว่าประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปตำบลสีแก้ว มีการสูบบุหรี่ร้อยละ 12.98 ในปี พ.ศ.2560 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.81 ในปี พ.ศ.2561 ส่วนปี พ.ศ.2562 มีการสูบบุหรี่ลดลงเป็นร้อยละ 11.09 และในปี พ.ศ.2563 มีการคัดกรองเพียง     ร้อยละ 2.52 ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งพบว่ามีการสูบบุหรี่ร้อยละ 3.15 ส่วนในปี พ.ศ.2564 มีการคัดกรอง ร้อยละ 40.69  พบว่ามีการบริโภคยาสูบ     ร้อยละ 12.16 และในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีการสูบบุหรี่ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34.76 โดยกลุ่มอายุที่สูบบุหรี่มากที่สุดคือกลุ่มวัยทำงาน     ร้อยละ 77.90 ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เป็นโรคเรื้อรังมีการสูบบุหรี่ จำนวน 27 คน มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ 1 ราย และมีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองจากสูบบุหรี่ จำนวน 2 ราย  และพบว่าภามรวมกลุ่มตัวอย่างมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางและมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนการวิจัยระยะที่ 2 ได้ใช้แนวคิดและทฤษฎีในการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยกลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม                   4 องค์ประกอบ ได้แก่   1)หลักการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2561) 2)กลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (2554) 3)หลักการมีส่วนร่วมของ Cohen, J.M., & Uphoff, N.T. (1980) และหลักสูตรการฝึกอบรมความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าของชำในการเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งประยุกต์จากแนวทางการเฝ้าระวังการบริโภคยาสูบของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และมีขั้นตอนการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพโดยกลไกการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1)การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย 2)ดำเนินการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ 3)การวางแผนพัฒนา  4)การดำเนินการพัฒนา และ 5)การประเมินผลการพัฒนา ส่วนผลการวิจัยระยะที่ 3 พบว่าภาพรวมองค์กรชุมชนและผู้ประกอบการร้านค้าของชำมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางแต่มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกด้าน และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและควบคุมการบริโภคยาสูบอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการร้านค้าของชำยังไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้แก่ 1)ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบนอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตขายยาสูบ ซึ่งพบเห็นได้ในงานแสดงมหรสพต่างๆในชุมชน 2)ผู้ขายบุหรี่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี 3)ผู้ซื้อบุหรี่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 4)แบ่งบุหรี่ขายเป็นมวน ซึ่งเป็นร้านค้าของชำที่ผู้ประกอบการไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้านการเข้าถึงบริการเลิกบุหรี่ จากการคัดกรองการสูบบุหรี่ ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ จำนวน 126 คน โดยผู้สูบบุหรี่ได้รับคำแนะนำจากองค์กรชุมชนให้เลิกบุหรี่ทุกรูปแบบอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนสามารถเลิกบุหรี่ได้ในระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 18 คน(ร้อยละ 14.3) โดยวิธีการที่เลิกสูบบุหรี่ได้มากที่สุดคือได้รับคำแนะนำให้เข้ารับบริการที่คลิกนิกฟ้าใสของสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีบ้านสีแก้ว จำนวน 16 คน (ร้อยละ 88.9) รองลงมาคือจากการใช้สมุนไพรในชุมชน จำนวน 2 คน (ร้อยละ 11.1)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-30