การพัฒนาบริการช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
บริการทางด่วน, โรคหลอดเลือดสมอง, ภาคีเครือข่ายบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบริการช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ดำเนินการพัฒนาระบบริการร่วมกันโดยทีมสหวิชาชีพและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก คือ 6 เสาหลักของระบบสุขภาพ ระยะเวลาวิจัย เดือน กรกฎาคม 2562 - กันยายน 2563 เครื่องมือวิจัย ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วย แบบประเมินการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลและส่งต่อผู้ป่วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลข้อมูลเชิงปริมาณโดยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษา การพัฒนาบริการช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย อำเภอชนบท ประกอบด้วย 1) การเข้าถึงบริการช่องทางด่วนที่รวดเร็ว โดยขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับโรค รณรงค์อาการเตือน สร้างความตระหนักในการบริการช่องทางด่วน ประชาสัมพันธ์ 1669 ผ่านทุกช่องทาง 2) การคัดกรองผู้ป่วย โดยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นแก่บุคลากรในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุข กู้ชีพตำบล นำ FAST score มาใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองผู้ป่วยทั้งอำเภอ 3) กระบวนการดูแลผู้ป่วย จัดบริการที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินที่รวดเร็วกำหนดหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจนรายบุคคล พัฒนา Stroke Case Manager ให้การดูแลตาม Clinical practice guideline พัฒนาระบบให้ปรึกษาร่วมกับรพ.สต.และโรงพยาบาลแม่ข่ายผ่านทางไลน์ 4) พัฒนาแนวทางการดูแลและส่งต่อผู้ป่วย จัดทำแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย ตั้งแต่ระดับชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลแม่ข่ายรวมถึงจัดทำระบบการติดตามผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลังส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลขอนแก่นผ่านทางไลน์ ประเมินผล พบว่า บุคลากรผู้ให้บริการมีการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ร้อยละ 100 ผลลัพธ์ของการดูแลผู้ป่วยที่มาถึง โรงพยาบาลภายใน 180 นาที พบว่า ระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนมาถึงโรงพยาบาลเฉลี่ย 84.25 นาที ระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลจนถึงส่งต่อภายหลังวินิจฉัยเฉลี่ย 5.56 นาที ระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลจนส่งต่อ 15.40 นาที ผู้ป่วย Stroke ที่มารับบริการภายใน 180 นาที ร้อยละ 75.58 ไม่มีอุบัติการณ์วินิจฉัยผู้ป่วย Stroke fast tract ล่าช้า ผู้ป่วยเข้าสู่ Stroke fast tract ได้รับการส่งต่อภายใน 30 นาที ร้อยละ 94.74
สรุป : ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ระบบบริการช่องทางด่วนที่พัฒนาขึ้นช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว และได้มาตรฐาน