การประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น ในช่วงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ผู้แต่ง

  • ภรณพรรษสร พุฒวิชัยดิษฐ์

คำสำคัญ:

การประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, การแพร่ระบาดของ COVID-19

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) 2) เปรียบเทียบผลการดูแลรักษาผู้ป่วย COPD ก่อนและในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 3) ศึกษาปัญหาและพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย COPD ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 4) ประเมินผลหลังการนำแนวทางไปปฏิบัติ กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยผู้ป่วย COPD ทั้งหมด 47 คน โดยไม่มีการสุ่ม และทีมสหสาขาวิชาชีพ 8 คน คัดเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือในการวิจัย ได้แก่แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกข้อมูลผู้ป่วย COPD แนวคำถามในการสัมภาษณ์และการประชุมกลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการและการประชุมกลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติพรรณนา การวิเคราะห์เนื้อหาและสถิติ Paired t-test
ผลการวิจัย จากการประเมินผลการดูแลรักษาผู้ป่วย COPD ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่าผู้ป่วย COPD มีอาการกำเริบเฉียบพลันที่ต้องรับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน (ER Visit) มากกว่าก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) และต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการกำเริบของโรค (Admit) มากกว่าก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>.05) ปัญหาในการดูแลรักษาผู้ป่วย COPD ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้มีการจ่ายยาผู้ป่วยที่บ้านและญาติรับยาแทน ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่ได้มารับการดูแลรักษาจากทีมสหสาขาวิชาชีพ กิจกรรมสำคัญต้องงดบริการ เช่น การตรวจสมรรถภาพปอดโดยการเป่า Peak Flow Meter การสอน/ ประเมินการใช้ยาสูดพ่น คลินิกอดบุหรี่และการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ส่งผลให้ผู้ป่วย COPD มีอาการกำเริบของโรคเพิ่มขึ้น ผู้วิจัยและทีมสหสาขาวิชาชีพจึงร่วมกันพัฒนาแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย COPD ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วยการเปิดบริการ COPD Clinic พัฒนาแนวทางในระยะก่อนตรวจ ขณะตรวจและหลังตรวจให้เหมาะสม เพิ่มพยาบาลวิชาชีพประจำจุดคัดกรอง/ คัดแยก (Triage) ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยหนัก/ ฉุกเฉิน ส่งตรวจอย่างเหมะสมและปลอดภัย เน้นการให้ความรู้รายบุคคลและให้คำปรึกษารายกรณ๊แก่ผู้ป่วย COPD ในการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง แพทย์ เภสัชกร และนักกายภาพบำบัดปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย COPD โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 อย่างเข้มงวด หลังนำแนวทางไปปฏิบัติ พบว่าผู้ป่วย COPD มีจำนวนครั้งเฉลี่ยของ ER Visit การ Admit และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) แสดงให้เห็นว่าแนวทางนี้สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดผลลัพธ์ที่ดี ทำให้ผู้ป่วย COPD ได้เข้าถึงบริการ COPD Clinic ที่มีคุณภาพ ลดอาการกำเริบของโรค และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล งานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะให้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-13