การศึกษาอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล ในสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
คำสำคัญ:
อัตราการรอดชีวิต, การช่วยฟื้นคืนชีพ, ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล, การบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินบทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล (Out of hospital cardiac arrest: OHCA) เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพเร่งด่วน การศึกษาข้อมูลปัจจัยด้านระบบบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่ส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์: ศึกษาอัตราการรอดชีวิต และปัจจัยของการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล
วิธีดำเนินการวิจัย: การศึกษาเชิงพรรณนาแบบเก็บข้อมูลย้อนหลัง โดยรวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล ที่ทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงของโรงพยาบาล นำส่งที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
ผลการวิจัย: จากการศึกษาผู้ป่วยจำนวน 221 ราย พบว่าอัตราการรอดชีวิต (return of spontaneous circulation: ROSC) ร้อยละ 50.68 อัตราการรอดชีวิต (survival to admission) ร้อยละ 33.94 และอัตราการรอดชีวิต (survival to discharge) ร้อยละ 2.26 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเพศชาย (ร้อยละ 65.61) อายุเฉลี่ย 61.60±15.59 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน โรคมะเร็ง สาเหตุหัวใจหยุดเต้นจากภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) และระยะเวลารวมการช่วยฟื้นคืนชีพ ≤ 30 นาที มีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยของการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ การได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำก่อนถึงโรงพยาบาล (Adjusted RR 2.15, 95% CI 1.01-4.60)
สรุป: ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลมีอัตรารอดชีวิต (ROSC) สูง แต่ survival to discharge ต่ำ และการที่ผู้ป่วยได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำก่อนถึงโรงพยาบาล เป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ