ผลของการพัฒนาแนวปฏิบัติการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดเกิดเหตุ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

ผู้แต่ง

  • ชัญญาภัค วิจารณ์

คำสำคัญ:

แนวปฏิบัติการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วย, อุบัติเหตุทางถนน, ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน

บทคัดย่อ

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดเกิดเหตุ โรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เก็บรวบรวมข้อมูล 2 ระยะ คือ (1) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระยะเวลาในการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ป่วยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (2) ศึกษาและพัฒนาแนวปฏิบัติการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดเกิดเหตุ กลุ่มตัวอย่าง คือ พยาบาลและบุคลากรของโรงพยาบาลลาดหลุมแก้ว จำนวน 23 คน ประเมินผลลัพธ์ คือ จำนวนครั้งการปฏิบัติภารกิจและการดูแลก่อนและหลังการปฏิบัติตามแนวทางใหม่และแนวทางเดิม จำนวน 70 ครั้ง  เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบบันทึกการปฏิบัติงานของสำนักบริการการแพทย์ฉุกเฉินกระทรวงสาธารณสุข  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่  Independent t-test และ Chi-square ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05

ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยด้านระยะทางจากจุดเกิดเหตุถึงโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับระยะเวลาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ( r= 0.46) ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการดูแล ณ จุดเกิดเหตุเข้าถึงบริการสุขภาพเร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแล (χ2 = 14.22) ผลการปฏิบัติงานตามแนวปฏิบัติการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดเกิดเหตุ พบว่า มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน 10 ขั้นตอนดังนี้ 1) การรับแจ้งเหตุ 2) การสั่งการออกปฏิบัติงาน 3) การนํารถออกปฏิบัติงาน 4) การปฏิบัติการเมื่อถึงจุดเกิดเหตุ 5) ปฏิบัติการช่วยเหลือชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 6) การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุ 7) นําผู้บาดเจ็บส่งต่อโรงพยาบาล 8) การดูแลระหว่างนําส่งโรงพยาบาล 9) การส่งต่อผู้บาดเจ็บเมื่อถึงโรงพยาบาล 10) การปฏิบัติเมื่อกลับถึงฐาน โดยระยะเวลาในการปฏิบัติการส่งต่อผู้ป่วยตามแนวปฏิบัติการดูแลและการส่งต่อผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดเกิดเหตุแบบใหม่แตกต่างกับแนวทางแบบเดิม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05

 

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-13