ผลของโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิต ของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

ผู้แต่ง

  • จารุมน ลัคนาวิวัฒน์
  • สาโรจน์ นาคจู

คำสำคัญ:

พลังสุขภาพจิต, โปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิต, เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด 19

บทคัดย่อ

     การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) เปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลองในกลุ่มเดียวกันและระหว่างกลุ่ม (One group and two group pretest-posttest) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ระหว่างเดือนมีนาคม 2565-เดือนเมษายน 2565 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 192 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลห้วยยอด จำนวน 100 คน และเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิ จำนวน 92 คน โดยกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางของเครซีและเมอร์แกน (Krejcie & Morgan, 1970) ทำการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified random sampling) และสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม RO (Resilience Quotient) ที่มีค่าความเชื่อมั่น 0.749 และออกแบบโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิต จำนวน 3 ครั้ง ๆ ละ 60 นาที ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ โดยโปรแกรมได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistic) หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบค่าคะแนนระดับพลังสุขภาพจิตโดยใช้สถิติ Paired Sample T-Test และ Independent Sample T-Test

     ผลการศึกษาพบว่า ค่าคะแนนระดับพลังสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลห้วยยอดและเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมเสริมสร้างพลังสุขภาพจิต มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 โดยค่าคะแนนหลังเข้าโปรแกรมสูงกว่าก่อนเข้าโปรแกรมและค่าคะแนนระดับพลังสุขภาพจิตระหว่างเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลห้วยยอดกับเจ้าหน้าที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ทั้งก่อนและหลังเข้าโปรแกรมไม่แตกต่างกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-31