การพยาบาลผู้คลอดที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • เยาวลักษณ์ ศิลาวรรณ waengnoi hospital

คำสำคัญ:

ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด , การพยาบาล

บทคัดย่อ

     การศึกษานี้เป็นกรณีศึกษา 2 ราย วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพยาบาลกรณีศึกษาผู้คลอดที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด 2 ราย ที่มารับการรักษาที่ห้องคลอดโรงพยาบาลแวงน้อย  จังหวัดขอนแก่น เปรียบเทียบผู้คลอดที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด 2 ราย  โดยประยุกต์ใช้แนวคิดแบบแผนสุขภาพ 11 แบบแผนในการวางแผนการพยาบาล

     ผลการศึกษา พบว่า  กรณีศึกษาที่ 1  ผู้ป่วยอายุ 27 ปี  G3P2-0-0-2  ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแวงน้อยเมื่ออายุครรภ์ 23 สัปดาห์  มีภาวะซีดได้รับยา Ferrous Sulfate ไปรับประทานที่บ้านเป็นระยะเวลานาน 2 เดือน  ติดตามผลการตรวจเลือดครั้งที่ 2 พบ Hct เพิ่มขึ้น  มาตรวจตามนัดเพียง 4 ครั้ง  ในระหว่างตั้งครรภ์มีการเสพยาแอมเฟตามีนและดื่มแอลกอฮอล์สัปดาห์ละ 1 ครั้งเมื่อมีการร่วมสังสรรค์กับเพื่อนๆ  โดยเสพยาและดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องมาจนคลอด  เจ็บครรภ์คลอดมา 3 ชั่วโมง 40 นาทีก่อนมาโรงพยาบาล  คลอดเมื่ออายุครรภ์ 35+5 สัปดาห์  คลอดปกติ  ทารกเป็นเพศหญิง  น้ำหนักแรกคลอด 2,130 กรัม  ตัวยาว 48 cm. ประเมิน APGAR SCORE = 10 , 10  ทารกหลังคลอด 2 ชั่วโมงแรกตรวจ DTX = 40 มก/ ดล  , Hct = 66%  ต้องสังเกตอาการและอยู่รักษาที่โรงพยาบาลต่อ  แต่ทารกมีปอดอักเสบร่วมด้วยจึงอยู่รักษาต่อที่โรงพยาบาลอีก 7 วัน  แต่มีอาการหายใจหอบแพทย์จึงส่งต่อทารกไปรักษาที่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิของจังหวัด

     กรณีศึกษาที่ 2  ผู้ป่วยอายุ 19 ปี G2P1-0-0-1  ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลพลเมื่ออายุครรภ์ 19 สัปดาห์  ได้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (Tetanus toxoid)กระตุ้น 1 เข็ม  มาตรวจตามนัด 6 ครั้ง  ในระหว่างตั้งครรภ์มีการทำงานโรงงานเป็นกะและทำงานล่วงเวลา  พักผ่อนน้อย  รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา  คลอดเมื่ออายุครรภ์ 36+6 สัปดาห์  คลอดปกติ  ทารกเป็นเพศชาย  น้ำหนักแรกคลอด 2,400 กรัม  ตัวยาว 50 cm. ประเมิน APGAR SCORE = 9 , 10  ทารกหลังคลอด 2 ชั่วโมงแรกตรวจ DTX = 91 มก/ ดล. , Hct = 67%  ต้องสังเกตอาการและอยู่รักษาที่โรงพยาบาลต่อ  แต่ทารกมีปอดอักเสบร่วมด้วยจึงอยู่รักษาต่อที่โรงพยาบาลอีก 7 วัน  อาการดีขึ้นแพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-31