การพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เท้า : กรณีศึกษา

ผู้แต่ง

  • ประภารัตน์ ตั้งสกุล

คำสำคัญ:

โรคเบาหวาน, ภาวะแทรกซ้อนที่เท้า, กรณีศึกษา

บทคัดย่อ

     การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนที่มีสาเหตุหลักจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานมานาน การควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดไม่ได้ตามเกณฑ์ มีภาวะหลอดเลือดแดงที่เท้าตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการมึนชาที่เท้า เมื่อเกิดแผลก็ทำให้แผลหายช้า เมื่อมีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจึงได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ศึกษาได้คัดเลือกผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยการคัดเลือกแบบเจาะจง โดยการศึกษาจากเวชระเบียนผู้ป่วย ประเมินภาวะสุขภาพ 11 แบบแผนของกอร์ดอน และการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาแสดงผลการศึกษาภาวการณ์เจ็บป่วยตามกระบวนการพยาบาล 5 ขั้นตอน ตั้งแต่แรกรับถึงการวางแผนจำหน่าย

     ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยกรณีศึกษาได้รับการวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เท้า พบปัญหาทางการพยาบาล ได้แก่ มีแผลอักเสบติดเชื้อที่เท้า ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ตามเกณฑ์เป้าหมาย เสี่ยงต่อการหายของแผลช้า/ตัดเท้า เนื่องจากมีภาวะ DM uncontrol ซีด และ PAD เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากตาพร่ามัวการมองเห็นลดลง มีความวิตกกังวลกลัวต้องตัดขา มีถาวะไตเรื้อรังระยะที่ 3 และขาดความรู้ในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ขาดผู้ดูแลช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง มีประวัติ hypoglycemia ขณะอยู่บ้าน เนื่องจากการได้รับยาฉีดอินสุลินไม่สัมพันธ์กับมื้ออาหาร เสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจเนื่องจากมีปัจจัยเสริมในเรื่องการมารับการรักษาไม่ต่อเนื่องตามนัด และได้รับควันบุหรี่มือสองจากสามีที่สูบบุหรี่ทุกวัน เมื่อผู้ศึกษาได้ให้การพยาบาลตามกระบวนการพยาบาลที่กำหนด ร่วมกับการวางแผนจำหน่ายแบบ DMETHOD ได้รับการล้างทำความสะอาดแผลต่อเนื่องทุกวัน ได้รับการทำ SMBG บางวัน
ผล HbA1C ลดลงจาก 13.9 mg% เหลือ 11.2 mg% ในระยะเวลาที่ศึกษาต่อเนื่อง ไม่มีภาวะอาการน้ำตาลต่ำในช่วงกลางดึก ฝึกออกกำลังและบริหารเท้าทุกวัน เล็บมือ-เท้าตัดสั้น ทาโลชั่นทุกวัน เปลี่ยนจากรองเท้าแตะมาเป็นรองเท้าหุ้มส้น ไม่แช่เท้าด้วยน้ำอุ่น ได้เข้ารับการรักษาเรื่องเบาหวานขึ้นจอตาจากจักษุแพทย์ และสามีออกไปสูบบุหรี่นอกบ้าน ผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจต่อกระบวนการพยาบาลที่ได้รับ ส่งผลในภาพรวมของสุขภาพผู้ป่วย ที่มีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-03-31