ผลโปรแกรมสุขศึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ที่สูบบุหรี่ เขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
คำสำคัญ:
ผลโปรแกรมสุขศึกษา, พฤติกรรมในการเลิกสูบบุหรี่, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองบัวบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Research) กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือ ผู้สูบบุหรี่ จำนวน 40 คน ในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มทดลอง ซึ่งกลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมสุขศึกษาตามแนวคิดทฤษฎีแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ และแรงสนับสนุนทางสังคม เป็นเวลา 6 เดือน รวบรวมข้อมูลก่อนและหลังการทดลองภายในกลุ่ม โดยมีรูปแบบการวัดสองครั้ง The One-Group Pre test–Post test เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือแบบสอบถาม ใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ เดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาในการแจกแจงจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติอนุมานใช้ Paired t-test ในกรณีข้อมูลมีการแจกแจงปกติ หรือ Wilcoxon Signed Rank Test ในกรณีที่ข้อมูลมีการแจกแจงไม่ปกติ กำหนดที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
ผลการวิจัยพบว่า 1) กลุ่มทดลอง ภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรม มีคะแนนความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ และการรับรู้ตามแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) กลุ่มทดลอง ภายหลังเข้าร่วมโปรแกรม มีคะแนนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่โดยรวม สูงกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05