ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะโลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์ ในโรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
คำสำคัญ:
ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์, ความชุก, ปัจจัยเสี่ยงบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะโลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นงานวิจัยตามรุ่นย้อนหลัง โดยเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจากเวชระเบียนของหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลน้ำพอง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 จำนวน 146 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณาเพื่ออธิบายกลุ่มตัวอย่างและศึกษาความชุกด้วยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์หาปัจจัยที่มีสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโลหิตจางด้วยวิธีการทดสอบไคสแควร์และการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ p<0.05
ผลการศึกษาพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลน้ำพอง มีค่าเฉลี่ยปริมาณฮีโมโกลบิน 11.74 กรัมต่อเดซิลิตร และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD)เท่ากับ 1.25 พบหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโลหิตจาง 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.2 โดยปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดโลหิตจางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือระดับการศึกษาต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษา (AOR 4.224, 95%CI 1.023,17.446) (p=0.047) , อาชีพว่างงานหรือแม่บ้าน (AOR 2.886, 95%CI 1.212,6.871) (p=0.017) และ ฝากครรภ์ครั้งแรกที่อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ (AOR 3.229, 95%CI 1.246,8.735) (p=0.016) ปัจจัยอื่นๆ ของการศึกษานี้ที่ไม่พบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจางได้แก่ อายุ, สถานภาพสมรส, โรคประจำตัว,ดัชนีมวลกายเมื่อฝากครรภ์ครั้งแรกและจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์