การพัฒนาแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
คำสำคัญ:
แนวทางการพยาบาล, การดูแลประคับประคอง, การวิจัยและพัฒนาบทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ใช้รูปแบบการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ชูคับ (2000) เป็นกรอบแนวคิด คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เป็นทีมผู้ให้การพยาบาลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 31 คน ผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลที่มารับบริการที่โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จำนวน 60 คน ระยะเวลาในกาวิจัย ตั้งแต่ ตุลาคม 2563 - มีนาคม 2565 ประเมินผลลัพธ์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน และคำนวณหาค่าความเที่ยง เครื่องมือประกอบด้วย 1. แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล 2. แบบประเมินผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 3. แบบประเมินความพึงพอใจของญาติต่อการได้รับการดูแลแบบประคับประคอง 5. แบบประเมินความพึงพอใจของพยาบาลต่อแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หาค่าความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคได้เทากับ .84, .88, .90 ตามลำดับ 5. แบบประเมินการรับรู้การเสียชีวิตอย่างสงบและสง่างาม ค่าความตรงตามเนื้อหา ค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1(KR20) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติพรรณนา และทดสอบความแตกต่างโดยใช้สถิติ paired t- test
ผลการวิจัยพบว่า แนวทางการพยาบาลที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 1. การคัดกรองและการให้ข้อมูลการดูแล 2. การประเมินและการดูแลด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ 3. การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน 4. การดูแลระยะใกล้ตายและหลังการสูญเสีย ผลของการใช้แนวทางการพยาบาลแบบประคับประคองพบ อาการรบกวนที่เป็นปัญหาสำคัญคืออาการปวดพบ 57 % อาการเหนื่อยหอบ 40 % ผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองก่อนและหลังให้การพยาบาลแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) หลังการสูญเสีย 87 % ของญาติรับรู้ถึงการจากไปอย่างสงบและสง่างาม 90 % ไม่มีอาการเศร้าโศกและซึมเศร้าที่ผิดปกติ 94 % ของญาติผู้ดูแลพึงพอใจต่อการพยาบาลที่ได้รับ และ 88 % ของพยาบาลมีความพึงพอใจต่อแนวทางการพยาบาลที่พัฒนาขึ้น
แนวทางการพยาบาลนี้สามารถนำไปใช้ในการให้การพยาบาลผู้ป่วยผู้ป่วยแบบประคับประคองได้