การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้รูปแบบคลินิกหมอครอบครัวเครือข่ายพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

ผู้แต่ง

  • ชมพูนุท วงษาเนาว์
  • วราลี วงศ์ศรีชา
  • วรรณ์นิภา แสนสุภา

คำสำคัญ:

โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, คลินิกหมอครอบครัว, การพัฒนาระบบ, ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

บทคัดย่อ

     การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้รูปแบบคลินิกหมอครอบครัวเครือข่ายพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้รูปแบบคลินิกหมอครอบครัวเครือข่ายพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) กลุ่มตัวอย่าง มี 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ให้บริการ ได้แก่ ทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 4 แห่ง จำนวน 26 คน 2. กลุ่มผู้รับบริการ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 72 คน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 80 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) ที่มีคุณสมบัติที่ตามเกณฑ์การวิจัย ขั้นตอน/วิธีการดำเนินการวิจัย ขั้นที่ 1 การวางแผน (Planning) วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางปฏิบัติ ขั้นที่ 2 การปฏิบัติ (Acting) ลงมือการดำเนินงาน ตามรูปแบบการให้บริการที่กำหนดไว้ ขั้นที่ 3 การสังเกต (Observing) เป็นการให้ข้อมูลถึงการกระทำ ตามที่บันทึกข้อมูลไว้จากการสังเกตในเชิงกระบวนการและผลการปฏิบัติงาน ขั้นที่ 4 การสะท้อนผล (Reflecting) กระบวนการและผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา การวิเคราะห์ข้อมูล 1. แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป, แบบสอบถามความคิดเห็น, แบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาโดยใช้ความถี่ ร้อยละและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2. ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง เช่น ค่าความดันโลหิต/ ระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)/น้ำตาลสะสม (HbA1c) เปรียบเทียบข้อมูลก่อนหลังด้วยสถิติ Pair T-test

     ผลการศึกษา หลังการพัฒนาพบว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ประกอบด้วย 1) การชั่งน้ำหนัก, วัดความดันโลหิต, เจาะน้ำตาลในเลือด 2) เข้ากลุ่มให้ความรู้ในการปรับพฤติกรรมสุขภาพ 3) พบแพทย์ตรวจรักษา ปรับยา 4) พยาบาลให้คำแนะนำ/นัดครั้งต่อไป 5) รับคำแนะนำในการใช้ยาจากเภสัชกร 6) ติดตามเยี่ยมบ้านโดยทีมหมอครอบครัวตามเกณฑ์ที่กำหนด ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า หลังการพัฒนาระบบ ผู้ป่วยเบาหวานมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดลดลงและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีค่าความดันโลหิตลดลงกว่าก่อนพัฒนาระบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 (X=8.95, SD=1.12, X =7.99, SD=0.87; X SBP=22.75, SD SBP=11.86, X DBP =7.65, SD DBP =7.44) ข้อมูลด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดระบบบริการในกลุ่มผู้รับบริการและผู้ให้บริการ พบว่า หลังการพัฒนาระบบ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดระบบบริการ ดีกว่าก่อนพัฒนาระบบทั้งกลุ่มผู้รับบริการและกลุ่มผู้ให้บริการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X =3.26, SD=0.45, X =4.46, SD=0.50; X =3.15, SD=0.36, X=4.50, SD=0.51) ความพึงพอใจต่อระบบบริการของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ พบว่า หลังการพัฒนาระบบ มีความพึงพอใจ ต่อระบบบริการ ดีกว่าก่อนพัฒนาระบบทั้งกลุ่มผู้รับบริการและกลุ่มผู้ให้บริการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (X =1.8, SD=0.57, X=4.42, SD=0.49; X=1.88, SD =0.58, X=4.42, SD=0.50)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30