การพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการจัดการตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มี ภาวะไตเสื่อมระยะ 3 อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • คำแปลง ศรีซ้ง

คำสำคัญ:

การสนับสนุนจัดการตนเอง, โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3

บทคัดย่อ

     การวิจัยและพัฒนานี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการจัดการตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตเสื่อมระยะ 3 ในโรงพยาบาลสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย 4 ระยะดังนี้ 1) ศึกษาสถานการณ์การและประเมินความต้องพัฒนา จากการสัมภาษณ์ ทีมสหสาขาวิชาชีพจำนวน 9 คน กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไตเสื่อมระยะที่ 3 จำนวน 10 คน และทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือด 20 ฉบับ 2) พัฒนารูปแบบการสนับสนุนการจัดการตนเอง ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ แบบประเมินความรู้ของผู้ป่วยไตเรื้อรัง แบบประเมินพฤติกรรมการจัดการตนเอง เพื่อชะลอไตเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวาน แบบสอบถามความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน และหาค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.80, 0.86 และ 0.80 และศึกษานำร่อง 3) นำรูปแบบที่พัฒนาไปใช้เพื่อตรวจสอบประสิทธิผล โดยใช้การทดลองแบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะไตเสื่อมระยะ 3 จำนวน 100 ราย ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่ม ให้การสนับสนุนการจัดการตนเองโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ติดตามผล 12 เดือน 4) การประเมินผลลัพธ์ ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือน มิถุนายน 2565 ถึงเดือน พฤษภาคม 2566 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนน ความรู้ พฤติกรรมการจัดการตนเองของผู้ป่วยไตเรื้อรังและตัวชี้วัดทางคลินิกก่อนและหลังการใช้รูปแบบการการสนับสนุนการจัดการตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อม โดยใช้สถิติ paired t-tests ที่ระดับนัยสำคัญ .05

     ผลการศึกษาพบว่า มีการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการจัดการตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อมของโรงพยาบาลสมเด็จขึ้นซึ่งได้จากการวิเคราะห์สถานการณ์ของระบบบริการสุขภาพ ตามกรอบแนวคิดของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง (Chronic Care Model [CCM]) ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ การออกแบบระบบบริการสุขภาพ การสนับสนุนการจัดการตนเอง การจัดการระบบฐานข้อมูลสุขภาพ และการสนับสนุนการตัดสินใจ หลังจากใช้รูปแบบพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้หลังการใช้รูปแบบการสนับสนุนการจัดการตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อม สูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการจัดการตนเองก่อนและหลังการใช้รูปแบบการการสนับสนุนการจัดการตนเองเพื่อชะลอไตเสื่อม โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ตัวชี้วัดทางคลินิก ได้แก่ ระดับ HbA1c, ระดับครีเอทินิน และอัตราการกรองของไต แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง ความดันโลหิตซิสโตลิค ไดแอสโตลิค และค่าดัชนีมวลกายไม่แตกต่างกัน ความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพและทีมสหสาขาวิชาชีพ ต่อรูปแบบบริการผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 3 อยู่ในระดับมาก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30