ความรู้ ทัศนคติและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นหญิง จังหวัดนครพนม
คำสำคัญ:
วัยรุ่นหญิง, การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์, ความรู้, ทัศนคติและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นหญิงบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นหญิง จังหวัดนครพนม กลุ่มตัวอย่างคือ วัยรุ่นหญิงในเขตจังหวัดนครพนม จำนวน 946 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มที่เคยตั้งครรภ์ จำนวน 473 คน และไม่ได้ตั้งครรภ์ จำนวน 473 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความรู้ ทัศนคติและการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นหญิง แบบสอบถามการป้องกันการตั้งครรภ์ แบบสอบถามการได้รับข้อมูลข่าวสารและการสนับสนุนในการป้องกันการตั้งครรภ์ ที่ยินดีเข้าร่วมการวิจัย ศึกษาในระหว่างเดือน เมษายน ถึง สิงหาคม 2561 ใช้ระยะเวลารวม 5 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย เปรียบเทียบหาความสัมพันธ์และขนาดระหว่างตัวแปรด้านประชากร ทดสอบสอบความแตกต่างของสัดส่วนด้วยสถิติไคสแควร์ (Chi square test) กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ P<0.05 คำนวณค่าอัตราส่วนของเหตุการณ์ที่สนใจ (Prevalence ratios) ค่าช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% confidence intervals) ใช้ log binomial regression
ผลการศึกษาเปรียบเทียบความรู้และทัศนคติระหว่างหญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และไม่ได้ตั้งครรภ์ พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันเกือบจะทุกด้าน ยกเว้น ความรุนแรงของการตั้งครรภ์ ที่บอกว่า “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นภาวะเสี่ยงที่สำคัญต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์” “วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ทำให้เสียโอกาสทางการศึกษา” และประโยชน์จากการป้องกันการตั้งครรภ์ ที่บอกว่า “การป้องกันการตั้งครรภ์จะทำให้ไม่เสียโอกาสต่างๆ ในชีวิต” ประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันมาก ได้แก่ “ผู้หญิงที่อยู่หอพักหรือห้องเช่ามีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่อยู่กับผู้ปกครอง” หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เห็นด้วย ร้อยละ 70 ขณะที่ผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ เห็นด้วย ร้อยละ 42 อีกประเด็นได้แก่ “วัยรุ่นเป็นวัยไม่พร้อมต่อการมีบุตร” หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เห็นด้วย ร้อยละ 1 ขณะที่ผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ เห็นด้วย ร้อยละ 48