ผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัดต่อคุณภาพชีวิตและความวิตกกังวลในผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ได้รับการผ่าตัด โรงพยาบาลกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • อรุณี พัวโสพิศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์

คำสำคัญ:

โปรแกรมการให้ข้อมูล, การตั้งครรภ์นอกมดลูก

บทคัดย่อ

     การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi – Experimental Research) แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อน-หลังมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตและระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ได้รับการผ่าตัดก่อนและหลังการได้รับข้อมูลก่อนและหลังการผ่าตัด กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ได้รับการผ่าตัด โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 35 คน เครื่องมือวิจัย ประกอบด้วย แผนการให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัด เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อฉบับภาษาไทยและแบบวัดความวิตกกังวลมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.74 และ 0.70 ตามลำดับ  กลุ่มตัวอย่างได้รับการประเมินคุณภาพชีวิตและความวิตกกังวลและได้รับข้อมูลการผ่าตัด ตั้งแต่ก่อนผ่าตัดจนกระทั่งจําหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลและได้รับการประเมินคุณภาพชีวิตและความวิตกกังวลซ้ำใน 1 เดือนหลังผ่าตัด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยายและเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตและระดับความวิตกกังวลก่อนและหลังการทดลองโดยใช้สถิติ Wilcoxon Signed Rank Test

     ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่าง 29 คน จาก 35 คน เข้าสู่กระบวนการวิจัยโดยสมบูรณ์หลังการทดลองกลุ่มตัวอย่างมีระดับคุณภาพชีวิตเฉลี่ย (MEAN= 96.10, S.D. = 3.38) สูงกว่าก่อนการทดลอง (MEAN = 92.86, S.D. = 3.20) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (Z = -4.311, P<.001) ระดับความวิตกกังวลก่อน (MEAN= 7.34 , S.D. = 1.67) และหลังการทดลอง (MEAN = 7.03, S.D. = 1.38) แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสําคัญทางสถิติ (Z = -1.482) การให้ข้อมูลก่อนและหลังผ่าตัดอย่างมีแบบแผนเป็นแนวทางการพยาบาลวิธีหนึ่งที่ควรส่งเสริมให้มีการนําไปใช้เพื่อเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ได้รับการผ่าตัด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-06-30