การพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และคุณภาพอากาศภายในอาคารของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย จังหวัดภูเก็ต

ผู้แต่ง

  • ศุภลักษณ์ ดำรงค์เชื้อ Phuket Provincial Public Health Office

บทคัดย่อ

     การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษามาตรฐานการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและคุณภาพอากาศภายในอาคารของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย จังหวัดภูเก็ต เก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมินมาตรฐานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 31 แห่ง ตรวจประเมินคุณภาพอากาศภายในอาคาร จำนวน 10 แห่ง พร้อมสำรวจปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพอากาศภายในอาคารและสอบถามปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพอากาศภายในอาคารของครูพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ จำนวน 84 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2566 และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงปริมาณ ผลการศึกษาพบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยได้ตามมาตรฐาน ยกเว้นด้านระบบป้องกันอัคคีภัยซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.8 ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และพบปัญหาในบางแห่งเกี่ยวกับความเสี่ยงของสนามเด็ก ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคารซึ่งเป็นห้องปิดที่มีการใช้ระบบปรับอากาศแบบแยกและไม่มีระบบการระบายอากาศ พบว่า คุณภาพอากาศภายในอาคารทั้ง 10 แห่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยจำนวนมากกว่าครึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในพารามิเตอร์ได้แก่ อุณหภูมิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอนุภาคที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน และทุกแห่งมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียรวมในอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานโดยสูงสุดที่ตรวจพบสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 11 เท่า ด้านปัญหาสุขภาพพบว่า ครูพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ ร้อยละ 22.6 มีประสบการณ์ที่มีอาการเกี่ยวเนื่องกับคุณภาพอากาศภายในอาคารในขณะทำงาน โดยอาการแสดงที่พบ เช่น แน่นจมูก คอแห้ง ไอ ปวดศีรษะ วิงเวียน ระคายเคืองตา ผิวหนังผื่นคัน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-30