รูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • สังวาลย์ เพริดพราว -

คำสำคัญ:

ผู้สูงอายุ, โรคความดันโลหิต, การวางแผนจำหน่าย

บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและผลลัพธ์ของรูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการศึกษาตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2565 –  พฤษภาคม 2566 รวม 8 เดือน กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่เข้านอนรักษาตัวในแผนกผู้ป่วยในชายและแผนกผู้ป่วยในหญิง โรคพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ รูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง, แบบบันทึกประวัติการรักษาและสภาวะสุขภาพ, แบบสัมภาษณ์, แบบทดสอบ, แบบบันทึกติดตามพฤติกรรม และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา สถิติเชิงพรรณนา และสถิติอนุมาน paired t-test

     ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงซึ่งเข้านอนรักษาตัวในแผนกผู้ป่วยในชาย และแผนกผู้ป่วยในหญิง โรงพยาบาลเขาวง มีปัญหาสุขภาพที่สำคัญคือ การมีกิจกรรมออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายน้อย, การดื่มเครื่องดื่มผสมคาแฟอีนหรือแอลกอฮอล์, ผู้ป่วย และญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงในภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับปาน รวมถึงญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยมีการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิตผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อได้ดำเนินการตามรูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งประกอบด้วย การสร้างทีมพัฒนาคุณภาพการวางแผนจำหน่าย, การประเมินสภาวะปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยเมื่อแรกรับ, การจัดจำแนกผู้ป่วยตามสภาพปัญหาสุขภาพเป็นรายกรณี, การวางแผนจำหน่าย, การดำเนินการตามแผนจำหน่ายผู้ป่วย, การติดตามผลลัพธ์ของการจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน และการรวบรวม สรุปผลการดำเนินงาน ทำให้เกิดผลลัพธ์ของรูปแบบหลังดำเนินการได้แก่ ผู้ป่วย และญาติหรือผู้ดูแลมีความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงก่อนและหลังการดำเนินการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่หลังดำเนินการระดับความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงมีค่าเพิ่มขึ้น, ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยมีระดับการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิตผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก่อนและหลังการดำเนินการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่หลังดำเนินการระดับการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำเนินชีวิตผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีค่าเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีสภาวะสุขภาพก่อนและหลังการดำเนินการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยที่ภายหลังดำเนินการค่าความดันโลหิตตัวบน, ค่าดัชนีมวลกายมีค่าลดลงจากก่อนดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-30