ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ในโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

ผู้แต่ง

  • ชนิดา เพ็ชรศรี

คำสำคัญ:

ความเหนื่อยล้าในการทำงาน, การรับรู้ลักษณะงาน, ความเครียดในการทำงาน, คุณภาพชีวิตในการทำงาน

บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณแบบ cross-sectional descriptive study พื้นที่วิจัย คือ โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา จำนวน 206 คน ใช้วิธีคัดเลือกแบบสุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 1 ชนิด คือ แบบสอบถามเชิงปริมาณ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ร้อยละ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมาน คือ สถิติไคว์แสควร์ Fisher's exact test และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ของตัวแปร และวิเคราะห์ถดถอยพหุเชิงขั้นในสร้างสมการทำนายความเหนื่อยล้าในการทำงาน

     ผลการวิจัย พบว่า ผลการวิเคราะห์ปัจจัยด้านต่างๆ พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการรับรู้ลักษณะงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 64.6 มีความเครียดในการทำงานระดับปานกลาง ร้อยละ 68.4 มีคุณภาพชีวิตในการทำงานระดับปานกลาง ร้อยละ 77.7 และมีความเหนื่อยล้าในการทำงานระดับปานกลาง ร้อยละ 74.8 เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร พบว่า ปัจจัยด้านอายุงาน (p=0.012) บทบาทในครอบครัว (p=0.046) จำนวนสมาชิกในครัวเรือน (p=0.012) การรับรู้ลักษณะงานโดยรวม (p=0.002) ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน (p<0.001) ความขัดแย้งระหว่างคนกับงาน (p=0.002) ความเครียดในการทำงาน (p <0.001) คุณภาพชีวิตในการทำงานโดยรวม (p<0.001) สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ (p=0.001) ความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงาน (p<0.001) การบูรณาการทางสังคม (p<0.001) ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (p<0.001) และลักษณะงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (p-value<0.001) มีความสัมพันธ์ต่อภาวะเหนื่อยล้าในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และ 0.05 เมื่อวิเคราะห์หาสมการทำนายความเหนื่อยล้าในการทำงาน พบว่า การบูรณาการทางสังคม ลักษณะงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน อายุงาน และการรับรู้ลักษณะงานสามารถร่วมกันทำนายความเหนื่อยล้าในการทำงานได้ร้อยละ 41.6

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-30