สถานการณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องแผลติดเชื้อที่กระจกตา โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช
คำสำคัญ:
แผลกระจกตา, แผลติดเชื้อที่กระจกตาบทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบย้อนหลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์แผลติดเชื้อที่กระจกตา ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตา และการรักษาโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิก ว่าเป็นแผลติดเชื้อที่กระจกตาที่ต้องรักษาแบบผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 ถึง 30 กันยายน 2566 จำนวน 142 คน รวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยใน วิเคราะห์ข้อมูลโดย ข้อมูลแจงนับ (categorical data) นำเสนอเป็นจำนวนและร้อยละ ส่วนข้อมูลแบบต่อเนื่อง (Continuous data) ที่มีการกระจายตัวแบบปกติ นำเสนอโดยเฉลี่ย(Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard deviation ; SD) การหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องใช้สถิติ Binary logistic regression ค่าความเชื่อมั่น 95% CI โดยแสดงอัตราปัจจัยเสี่ยงคราวละปัจจัยด้วย Odds ratio (OR)
ผลการศึกษา จำนวนผู้ป่วยแผลติดเชื้อที่กระจกตาที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องรักษาเป็นผู้ป่วยใน มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี จาก 18 ราย ในปี 2562 เป็น 37 ราย ในปี 2566 ผู้ป่วยส่วนมากเป็นผู้ชาย 101 คน (71.1%) อายุที่พบมากที่สุด คือ 56 – 65 ปี (27.5%) อายุเฉลี่ย 47.15 ปี มีโรคประจำตัว 40 คน (28.2%) ส่วนมากมีอาชีพรับจ้าง (55.60%) ภูมิลำเนาของผู้ป่วยส่วนมากมาจากอำเภอชัยบาดาล(31.0%) รองลงมาคืออำเภอเมือง (25.4%) และสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตามากที่สุด คือ เศษเหล็กเข้าตา (55.6%) รองลงมา คือ หญ้าหรือใบไม้เข้าตา (29.6%) ส่วนมากเป็นแผลที่ตาข้างซ้าย (62.7%) ระยะเวลาที่มีอาการก่อนมาโรงพยาบาลเฉลี่ย 2.32 วัน เชื้อก่อโรคที่พบมากที่สุด คือ Pseudomonas aeruginosa 10 ราย (7.0%) รองลงมา คือ Staphylococcus coagulase negative 6 ราย (4.2%) และเชื้อรา 4 ราย ( 2.8%)
ผลการรักษา พบว่า การมองเห็นดีขึ้น 111 ราย (78.2%) ควักลูกตา 4 ราย (2.8%) วันนอนเฉลี่ย (LOS) 17.8 วัน ส่งผู้ป่วยรักษาต่อเฉลี่ย 7 รายต่อปี ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 13,356.76 บาทต่อราย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันการเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เพศชาย (Sig 0.038) โรคประจำตัวเบาหวาน (Sig 0.036) โรคประจำตัวความดันโลหิตสูง (Sig 0.035) อาชีพรับจ้าง (Sig 0.006) และอาชีพเกษตรกร (Sig 0.010)
References
พนิดา โกสียรักษ์วงศ์. กระจกตาและสเดลอรา. จักษุวิทยา. 2550, 186.
Augustine R. Hong, Thomas S. Shute, Andrew J.W. Huang. Bacterial keratitis. Cornea. 4 Edition. Volume 1.3. Part vii. Disease of the cornea. Section 4. Corneal Infection Chapter. 2017, 75, 875-876.
Darfene Miller, Anat Galor, Eduardo C. Alfonco. Fungal keratitis. Cornea. 4 Edition. Volume 1.3. Part vii. Disease of the cornea. Section 4. Corneal Infection Chapter. 2017, 80, 964-965
วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ. กระจกตาติดเชื้อจากแบคทีเรีย. ตำราจักษุวิชาการ. 2560.
วิศรุตา วุฑฒยากร. แผลติดเชื้อที่กระจกตาที่จำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ พ.ศ. 2555-2559. สวรรค์ประชารักษ์เวชสาร. 2562, 15(3), 78-86.
นงเยาว์ รุ่งพิบูลโสภิษฐ์. แผลติดเชื้อที่กระจกตาในโรงพยาบาลกำแพงเพชร : ศึกษาในผู้ป่วย 111 ราย. วารสารโรงพยาบาลกำแพงเพชร. 2550,11(1), 33 – 41.