การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
คำสำคัญ:
การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐาน, แนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ การเขียนสื่อสารบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการเขียนสื่อสาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาความสามารถในการเขียนสื่อสารของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 หลังเรียน โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ กับเกณฑ์ร้อยละ 80 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนห้วยใหญ่ยางงาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 7 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ กิจกรรมและคู่มือการใช้กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ จำนวน 4 แผน แผนละ 3 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 12 ชั่วโมง แบบวัดความสามารถในการเขียนสื่อสาร และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) และการทดสอบค่า t – test One Samples
ผลการวิจัย พบว่า 1) กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานที่สร้างขึ้น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นสร้างความท้าทายใหม่ในการเรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีผ่านการเสริมต่อของครูและเพื่อน ขั้นตีความเงื่อนงำใหม่และข้อมูลที่จัดทำโดยเทคโนโลยีผ่านการเสริมต่อของครูและเพื่อน ขั้นพัฒนาความเข้าใจใหม่ผ่านการเสริมต่อของวิทยากรและเพื่อน และขั้นสร้างองค์ความรู้ใหม่นำไปสู่การปฏิบัติผ่านการเสริมต่อของวิทยากรและเพื่อน มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 80.15/80.33 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 2) นักเรียนมีความสามารถในการเขียนสื่อสารหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐานร่วมกับแนวคิดการเสริมต่อการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก