Milindapanha: Translation Version in Maha Makut Royal College

Main Article Content

Pichit Phongket
Phrakhru Sudhikhambhirayana

Abstract

มิลินทปัญหา เป็นคัมภีร์รุ่นก่อนอรรถกถาที่เก่าแก่และสำคัญคัมภีร์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นการบันทึกคำถาม-ตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน เป็มคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก อาจารย์ฝ่ายเถรวาทเชื่อว่า ท่านพระนาคเสนน่าจะเป็นคนจดบันทึกคำสนทนากันในครั้งนั้น ซึ่งเกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 550 ปี
ในอินเดียตอนเหนือ อาจเป็นแคว้นแคชเมียร์ก็ได้ การแต่งรวมบทการสนทนากันขึ้นเป็นคัมภีร์น่าจะอยู่ในระหว่าง พ.ศ. 559 ถึง พ.ศ. 581 ท่านภรัต ชิงห์ นักปราชญ์ชาวอินเดีย กล่าวอย่างมั่นใจในข้อมูลของตนว่า คัมภีร์มิลินทปัญหานี้ได้เขียนขึ้นในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์ หรือไม่ก็แต่งขึ้นในสมัยหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว และต้องแต่งขึ้นก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์แน่นอน เพราะพระพุทธโฆษาจารย์มักอ้างบทสนทนาในคัมภีร์มิลินทปัญหาของพระนาคเสนอยู่บ่อยๆ คัมภีร์มิลินทปัญหา ประมาณระยะเวลาการเขียนขึ้นคงจะเป็นระหว่างคริตส์ศักราชที่ 150 ถึงคริสต์ศักราช 400 สันนิษฐานกันว่า การแต่งนิทานกถาและนิคมกถาเพิ่มเข้ามานั้น คงไม่ใช่พระติปิฏกจุฬาภยเถระแต่งเพิ่มแน่นอน เพราะตัวมิลินทปัญหาเกิดขึ้นราวพุทธศักราช 550 ปี พระพุทธโฆษาจารย์ต้องเป็นผู้แต่งนิทานกถาและนิคมกถาประกอบเข้าให้โดยสมบูรณ์ ได้ลักษณะแห่งปกรณ์ในระหว่างพุทธศักราช 956 ถึง 1,000 ปีคัมภีร์มิลินทปัญหา ยังมีข้อถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า เขียนขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์หรือหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระเทพวิสุทธิกวีกล่าวว่า แต่งขึ้นก่อนสมัยพระพุทธโฆษาจารย์ สันนิษฐานว่า เดิมคัมภีร์มิลินทปัญหาน่าจะแต่งเป็นภาษาปรากฤตหรือภาษาสันสกฤตอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับคัมภีร์ที่แต่งทางอินเดียตอนเหนือ ผู้ที่แต่งก็น่าจะนับถือพระพุทธศาสนาแบบสรวาสติวาทิน เพราะจากการสังเกตการณ์อธิบายศัพท์ธรรมะบางศัพท์ต่างไปจากทัศนะของพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท เช่นตัวอย่าง การอธิบายคำว่า อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งหรือธรรมที่ปราศจากเหตุปัจจัยว่าหมายถึง อากาศและนิพพาน ซึ่งเป็นมติเฉพาะของนิกายสรวาสติวาทิน อันต่างจากนิกายอื่น ๆ ฝ่ายเถรวาท ซึ่งถือว่า อสังขตธรรม ได้แก่ นิพพานเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น (Phosansan, 2006 : 92) จึงเป็นปกรณ์มีมาเก่าแก่และสำคัญปกรณ์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ไม่ปรากฏว่าท่านผู้ใดเป็นผู้รจนา เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในราวพุทธศักราช 500 ปรากฏตามมธุรัตถปกาสินี ฎีกาแห่งมิลินทปัญหาซึ่งรจนาโดยพระมหาติปิฎกจุฬาภัย ว่าพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่งนิทานกถาและนิคมกถาประกอบเข้าเมื่อพุทธศตวรรษที่ 10 (Phothananta, 1977 : 169)
ดังนั้น ผู้วิจารณ์มีความประสงค์ที่เลือกวิจารณ์หนังสือเรื่องนี้ เพื่อศึกษามุมมองของผู้เขียนของหนังสือเรื่อง มิลินทปัญหา: ฉบับแปลในมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นผลงานที่กล่าวถึงการตอบปัญหาพระเจ้ามิลินท์ด้วยความรอบรู้ฉลาดและแหลมคม มีอุปมาอุปไมยที่เหมาะสมหาเปรียบได้ยาก เกียรติคุณท่านระบือไปทั่วโลก ตามประวัติ พระนาคเสนเถระ เป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และในปฏิภาณ คำตอบของท่านต่อพระเจ้ามิลินท์จึงน่าทึ่งเป็นอันมาก ผู้สนใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจึงควรได้อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง (Inthasu, 1985)

Article Details

Section
ปกิณกะ (Miscellany)

References

Inthasu, W. (1985). Milindapanha. Bangkok : Mahamakutrajavidyalaya.

Mahamakutrajavidyalaya University. (2000). Milindapanha: Translation version in Mahamakut Royal College. Bangkok : Mahamakutra Printing School.

Phosansan, A. (2006). Life and work of Buddhist scholars. Mahasarakham : Mahasarakham University.

Phothananta, S. (1977). History of Buddhism. 4th edition. Bangkok : Mahamakutrajavidyalaya.