การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 9
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพการมีส่วนร่วม 2) วิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วม และ 3) เพื่อนำเสนอรูปแบบการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 9 ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยได้มาจากแบบสอบถามพระสงฆ์ จำนวน 390 รูป โดยใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอน และแบบสัมภาษณ์ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 44 คน/รูป สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ สหสัมพันธ์ถดถอยพหุคูณแบบสเต็ปไวซ์
ผลการวิจัยพบว่า
1. การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ อยู่ในระดับปานกลางทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการกำหนดนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ด้านการนำนโยบายการส่งเสริมสุขภาพไปปฏิบัติ และ ด้านการประเมินนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ สำหรับปัจจัยส่งเสริมการมีส่วนร่วมอยู่ในระดับปานกลางทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านบทบาทเถรสมาคม ด้านบทบาทท้องถิ่น ด้านบทบาทพระสังฆาธิการชั้นปกครอง ด้านความช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคีการสนับสนุนจากภาครัฐ และ ด้านบทบาทของเจ้าอาวาส
2. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ พบว่า 1) ด้านการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ประกอบด้วย ความช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคี (X2) บทบาทพระสังฆาธิการชั้นปกครอง (X7) และ การมีส่วนร่วมของชุมชน (X 1) โดยทั้ง 3 ปัจจัยสามารถทำนายการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ ได้ร้อยละ 8.10 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 2) ด้านการมีส่วนร่วมในการนำนโยบายส่งเสริมสุขภาพไปปฏิบัติ ประกอบด้วย ความช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคี (X2) การมีส่วนร่วมของชุมชน (X1) และ บทบาทท้องถิ่น (X6) โดยทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวสามารถทำนายการนำนโยบายส่งเสริมสุขภาพไปปฏิบัติได้ร้อยละ 10.20 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และ 3) ด้านการมีส่วนร่วมในการประเมินนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของชุมชน (X1) บทบาทท้องถิ่น (X6) บทบาทพระสังฆาธิการชั้นปกครอง (X7) ภาวะผู้นำของเจ้าอาวาส (X4) และ ความช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคี (X2) โดยทั้ง 5 ปัจจัยดังกล่าวสามารถทำนายการประเมินนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ได้ร้อยละ 90.60 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
3. รูปแบบการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 9 ประกอบด้วย การตรวจสอบและปรับปรุงใหม่ การวางแผนพัฒนา การจัดการความร่วมมือ และ การประเมินประสิทธิภาพ