การศึกษาจริยศาสตร์การคบคนในมงคลสูตร
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่อง จริยศาสตร์การคบคนในมงคลสูตร มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักจริยศาสตร์ในประโยชน์นิยม ๒) เพื่อศึกษาการคบคนในมงคลสูตร ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์จริยศาสตร์การคบคนในมงคลสูตร การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยการศึกษาค้นคว้าในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เอกสารทางวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจริยศาสตร์การคบคนในมงคลสูตร
ผลการศึกษาพบว่า จริยศาสตร์ คือ ว่าด้วยความประพฤติหรือการกระทำของมนุษย์เพื่อแสวงหาความดีสูงสุด สรุปได้ ๓ เรื่องด้วยกันคือ ๑) เรื่องอะไรคือสิ่งดีที่สุด ๒) เรื่องกระทำอย่างไรถือว่าถูก ๓) เรื่องธรรมชาติของค่าทางจริยศาสตร์ ความหมายการคบคน คนพาล คือ คนที่ประพฤติอกุศลกรรมบถ ส่วนบัณฑิต คือ คนที่ประพฤติกุศลกรรมบถ ลักษณะคนพาลและบัณฑิต คือ ลักษณะคนพาล เป็นคนทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ส่วนบัณฑิตมีนัยตรงข้ามกัน เป็นคนทำความดี พูดดี คิดดี ประเภทของคนพาลและบัณฑิต คนพาลได้แก่ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ และคนชักชวนในทางเสียหาย ตรงข้ามกับเพื่อนที่เป็นบัณฑิต คือ มีอุปการะ ร่วมสุขร่วมทุกข์ แนะนำประโยชน์และมีน้ำใจ ส่วนประโยชน์นิยม ทัศนะทางจริยศาสตร์ที่ถือเอาประโยชน์สุขเป็นเกณฑ์ตัดสินความผิด ความถูก ชั่ว ดี กล่าวคือการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากที่สุดแก่คนจำนวนมากที่สุด ถือว่าเป็นการกระทำที่ดีที่สุด เป็นแนวทางในการจะทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องการคบคนในมงคลสูตร ตามหลักประโยชน์นิยม ซึ่งเป็นหลักที่ดีในการดำเนินชีวิต
การคบคนในมงคลสูตร มีการคบทั้งคนดีและไม่ดี ผู้ที่หวังความเจริญก้าวหน้าจะต้องรู้หลักและวิธีการเลือกคบมิตรที่ดี เช่นการคบมิตรตามหลักมงคลสูตร มีการไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต การคบคนเราควรมีหลักการที่ถูกต้องแบ่งแยกความแตกต่างออกว่า คนอย่างไรควรคบ ไม่ควรคบค้าสมาคม ความสำคัญและความจำเป็นในการเลือกคบคน พฤติการณ์ของคนพาลและบัณฑิต ผลของการคบคนพาลและบัณฑิต ผลกระทบทางเสียหายเป็นโทษเพราะการคบหาคนพาล ทำให้เกิดทุกข์กาย ทุกข์ใจ เสื่อมทรัพย์ เสื่อมญาติ เสื่อมยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนผลดีที่คบบัณฑิต ทำให้เจริญก้าวหน้า มีความไม่ประมาทในการทำความดี กิจการงานที่ดีทุกอย่าง การรู้จักเลือกคบคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมและสอดคล้องกับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี