การศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด แบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแบบผู้ป่วยนอก (Matrix program): กรณีศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Main Article Content
Abstract
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการบำบัดรักษาระบบสมัครใจของรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเปรียบเทียบกับการบำบัดแบบผู้ป่วยนอก โดยอาศัยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณประกอบกัน ผู้ให้ข้อมูลเป็นผู้ให้การบำบัดรักษายาเสพติด ในทุกอำเภอ รวม ๑๖ คนและศึกษาข้อมูลจากระบบรายงาน ระบบติดตามข้อมูลเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดผู้ผ่านการบำบัดทั้งสองรูปแบบ จำนวน ๑,๘๑๘ คน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลสำเร็จของการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ระหว่างค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และแบบผู้ป่วยนอก (Matrix program) ในระบบสมัครใจศึกษาบริบทที่มีผลต่อการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดเพื่อ เป็นแนวทางในการพัฒนาการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในจังหวัด
ผลการวิจัยพบว่า ผลการศึกษาค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่สมัครใจเข้ารับการบำบัดโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาเข้ารับการบำบัด จากการวิเคราะห์ข้อมูล รายงานระบบติดตามและเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดเหตุผลที่เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ อยากเลิกร้อยละ ๗๙.๗๖ รองมาคือ กลัวถูกจับ ร้อยละ๑๒ ค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขาดการคัดกรองที่ชัดเจน ผู้จัดต้องปรับเปลี่ยนให้สามารถบำบัดยาเสพติดแบบเหมาทุกกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันทั้งเพศ อายุ ระดับการติดสารเสพติด มีภูมิลำเนาที่ต่างกันซึ่งสามารถแก้ปัญหาให้ผ่านการบำบัดไปได้ ผลการติดตามหลังการบำบัด พบว่าผู้ป่วยยาเสพติดไม่กลับไปใช้ ร้อยละ ๙๐.๒๑ ยังใช้อยู่ ๑-๒ ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ ๗.๓๒ และใช้มากกว่า ๒ ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ ๐.๑๗ ถูกจับ ร้อยละ ๐.๒๘ ติดตามไม่พบ ร้อยละ ๒.๐๔
ส่วนรูปแบบผู้ป่วยนอก ผู้เข้ารับการบำบัดส่วนใหญ่ให้เหตุผลในการรักษาเพราะอยากเลิก ร้อยละ ๔๙.๐๗ รองมาคือ ทางครอบครัวหรือทางบ้านขอร้องและบังคับให้มาบำบัด ร้อยละ ๒๓.๓๒ โรงงานหรือบริษัทส่งมาบำบัด ร้อยละ ๑๕.๗๔ เมื่อติดตามหลังการบำบัด พบว่า อัตราเลิกใช้สูงกว่าแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ป่วยไม่กลับไปใช้ ร้อยละ ๙๘.๑๔ ยังใช้อยู่ ๑-๒ ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ ๐.๘๖ ใช้มากกว่า ๒ ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ ๐.๑๔ ถูกจับ ร้อยละ ๐.๑๔ ติดตามแล้วไม่พบ ร้อยละ ๐.๗๒ ผลสำเร็จของการรักษาทั้งสองรูปแบบ คือการบำบัดรักษา ครบกำหนดตามเกณฑ์ ได้รับการติดตามครบ ๑ ปีแล้วหยุดได้ เลิกเสพได้ มีปัจจัยขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นสำคัญ และสนับสนุนที่ทำให้ไม่กลับไปเสพซ้ำ