การพัฒนาแนวทางการบริหารสาขาวิชาแบบมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้คือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารสาขาวิชาแบบมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒) เพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารสาขาวิชาแบบมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นหัวหน้าสาขาและบุคคลากรในสาขาวิชาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ จำนวน ๑๐ แห่ง รวม ๒๙๑ คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยพบว่า
๑) สภาพปัจจุบัน และสภาพที่พึงประสงค์ของแนวทางการบริหารสาขาวิชาแบบมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าความต้องการจำเป็น PNImodified สภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ของแนวทางการบริหารสาขาวิชาแบบมีส่วนร่วม ในภาพรวมเท่ากับ ๐.๒๗ อัตราการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการจากสภาพปัจจุบันไปยังสภาพที่พึงประสงค์มีค่าคิดเป็นร้อยละ ๒๗ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า การมีส่วนร่วมในด้านการตัดสินใจ ด้านการแสดงความคิดเห็น ด้านการประเมินผล ด้านการดำเนินงาน ด้านการจัดสรรผลประโยชน์ และด้านความรับผิดชอบ มีค่าเท่ากับ ๐.๓๔, ๐.๓๓, ๐.๒๙,๐.๒๓,๐.๑๐ และ ๐.๓๕ ตามลำดับ อัตราการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการจากสภาพปัจจุบันไปยังสภาพที่พึงประสงค์มีค่าคิดเป็นร้อยละ ๓๔,๓๓,๒๙,๒๓,๑๐ และ ๓๕ ตามลำดับ
๒) แนวทางการบริหารสาขาวิชาแบบมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี ๖ ด้าน ประกอบด้วย ด้านการตัดสินใจ ด้านการแสดงความคิดเห็น ด้านการประเมินผล ด้านการดำเนินงาน ด้านการจัดสรรผลประโยชน์ และด้านความรับผิดชอบ โดยผลการวิจัยพบว่า ความต้องการจำเป็น PNImodified ในภาพรวมเท่ากับ ๐.๒๗ อัตราการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาการจากสภาพปัจจุบันไปยังสภาพที่พึงประสงค์ คิดเป็นร้อยละ ๒๗