รูปแบบการสงเคราะห์เชิงบูรณาการของพระสงฆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
Main Article Content
Abstract
บทความงานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาหลักการสงเคราะห์ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักการสงเคราะห์เชิงบูรณาการของพระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการสงเคราะห์เชิงบูรณาการของพระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลด้านประชากร จำนวน ๙๒ รูป/คน โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก แบบมีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง และใช้แบบสอบถามย่อยและแบบสอบถามกลุ่ม แล้วนำเสนอผลการศึกษาวิจัย ด้วยการพรรณนาเชิงวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้สังคหวัตถุ ๔ ได้แก่ ทาน การสงเคราะห์ด้วยวัตถุมี อาหาร เสื้อผ้า ที่พักอาศัย และยารักษาโรค ปิยวาจา การสงเคราะห์ด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน มีสาระประโยชน์ ควรฟัง อัตถจริยา การสงเคราะห์ด้วยประโยชน์ส่วนรวม ทั้งในญาตัตถจริยา โลกัตถจริยา และสมานตัตตา การสงเคราะห์ด้วยการวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย
ในบรรดา พระสงฆ์ ๓ รูป นี้ ได้แก่ พระปพนพัชร์ จิรธมฺโม ได้ให้การสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ด้วยการรักษาพยาบาลด้วยสมุนไพร และธรรมโอสถได้แก่การเจริญพระกรรมฐานทั้งสมถะและวิปัสสนา พระครูสุตศาสนการ (พระมหาไพฑูรย์ เขมธโร) ได้ให้การสงเคราะห์ แก่เยาวชนและประชาชนที่ติดยาเสพติด ด้วยกุศโลบาย อันเหมาะสมเช่น ให้รักษาศีล เจริญสมาธิ และสติ ควบคู่กับการรักษาด้วยสมุนไพร และจัดหาอาชีพให้ และพระครูศีลวราภรณ์ (เฉลิม ฐิติสีโล) ได้ให้การสงเคราะห์ แก่เด็กกำพร้าด้วยการนำเข้าสู่การศึกษาตามลำดับตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมศึกษา มัธยมศึกษาและระดับอุดมศึกษาจนเต็มความสามารถของเด็ก และได้นำประชาชนให้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำรงชีวิตเช่น การปลูกไผ่กิมซุงเป็นต้น ถ้าหากวิเคราะห์รูปแบบการสงเคราะห์ของพระสงฆ์ ๓ รูป ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
สรุปได้ดังนี้ (๑) พระปพนพัชร์ จิรธมฺโม เน้นการสงเคราะห์ ด้านสุขภาพและอนามัย (๒) พระครูสุตศาสนการ (พระมหาไพฑูรย์ เขมธโร) เน้นการสงเคราะห์ด้วยการให้ความรู้เรื่องโทษพิษและภัยของสิ่งเสพติดและ (๓) พระครูสีลวราภรณ์ (เฉลิม ฐิติสีโล) เน้นการสงเคราะห์ ด้านการศึกษาและอาชีพแก่เยาวชนตลอดถึงประชาชนทั่วไป