แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยใช้หลักไตรสิกขาเป็นฐานของ โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

Main Article Content

พระมหาปริญญา วรญาโณ (ทศช่วย)

Abstract

          วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีและกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ๒) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนโดยใช้หลักไตรสิกขาเป็นฐานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยใช้หลักไตรสิกขาเป็นฐานของโรงเรียนพระปริยัติ-ธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นเป็นการวิจัยเชิงเอกสาร และศึกษาภาคสนามสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษา นักวิชาการ และครูผู้สอน สรุปวิเคราะห์โดยวิธีการนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่า

          ๑. แนวคิดทฤษฎีและกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญที่มาจากแนวคิดทางการศึกษาของจอห์นดิวอี้ (John Dewey) ซึ่งเป็นต้นคิดในเรื่องของ “การเรียนรู้โดยการกระทำ” หรือ “Learning by doing” เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจัดกระทำเองนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทในการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้เรียน” และเปลี่ยนบทบาทของครูจาก “ผู้สอน” มาเป็น “ผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้” ลดการสอนให้น้อยลงให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ให้มาก

          ๒. สภาพการจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นครูมีประสบการณ์ในการสอนตามหลักไตรสิกขาที่แตกต่างกัน เทคนิควิธีการสอนของแต่ละท่านจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาและประสบการณ์แต่ละท่าน นอกจากนี้นักเรียนมีความเชื่อมั่นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนากาย ศีล จิตและปัญญากับทางโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ การจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขาที่ให้ได้ผลมากที่สุดและมีประสิทธิผล ควรประสานงานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียนในการเข้าร่วมจัดกิจกรรมทุกครั้ง การดึงศักยภาพของผู้เรียนให้ออกมาให้มากที่สุดทั้งในเรื่องของกระบวนการคิดที่คิดอย่างเป็นระบบ ความกล้าคิดกล้าทำ

          ๓. แนวทางการจัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญโดยใช้หลักไตรสิกขาเป็นฐานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นการศึกษาความคิดเกี่ยวกับผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยยึดแนวทางการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมมีต่อการเรียนการสอนตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ต้องจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ควรจัดให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่โดยผ่านกระบวนการคิดด้วยตนเอง ครูควรเป็นพี่เลี้ยงทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ เกิดความเข้าใจเป็นประสบการณ์ และสามารถนำความรู้ไปบูรณาการใช้ในชีวิตประจำวัน และมีคุณสมบัติตามกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่ต้องการให้ผู้เรียนเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข     ควรปรับกระบวนทัศน์ (Paradaigm) ในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละด้าน คือ ๑) ครูผู้สอน    ๒) หลักสูตร ยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับบริบท ๓) กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับหลักไตรสิกขา ๔) สื่อการเรียนรู้ และ ๕) การวัดผลและประเมินผล

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)