หลักสุขบัญญัติไทยสมัยใหม่กับหลักการพัฒนาตามแนวคิดไตรสิกขา

Main Article Content

ดร.สุนทรี สุริยะรังษี

Abstract

        บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาหลักการดูแลสุขภาพพื้นฐานในแนวทางหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ ๑๐ ประการกับหลักแนวคิดไตรสิกขา ๒) ศึกษาหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ ๑๐ ประการกับการพัฒนาตนในการดูแลสุขภาพองค์รวมตามหลักไตรสิกขา ในโลกปัจจุบันนานาประเทศต่างให้ความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและการดูแลรักษาสุขภาพ เพราะปัญหาด้านสุขภาพจะส่งผลก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมตามมา ประเทศไทยก็เช่นกันที่เล็งเห็นความสำคัญในด้านสุขภาพ จึงได้วางหลักสุขบัญญัติ ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑) การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด ๒) รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง ๓) ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย ๔) กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด โดยกินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ถูกหลักโภชนาการ ๕) งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ ๖) สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น ๗) ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท ๘) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี ๙) ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ โดยมองโลกในแง่ดี คิดในแง่บวก ๑๐) มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม โดยใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด หลักสุขบัญญัติแห่งชาติทั้ง ๑๐ ประการ เมื่อนำมาปฏิบัติจนเป็นสุขนิสัย จะทำให้เกิดประโยชน์ ดังนี้ ๑) มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ๒) มีความสัมพันธ์อันดีทั้งในครอบครัวและในสังคม ๓) อยู่ร่วมกันในสังคมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีได้อย่างมีความสุข ๔) ดูแลและป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุได้ ๕) ป้องกันตนเองจากสารเสพติดและอบายมุข

       การป้องกันตนตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ ๑๐ ประการ เป็นข้อปฏิบัติการพัฒนาทางกายที่มุ่งให้ดูแลและรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ปราศจากโรคภัยต่างๆและสามารถป้องกันตนเองจากสิ่งเสพติดและอบายมุข ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตนเองและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม จึงเป็นการพัฒนาตนเองที่มีจุดหมายในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน ที่เรียกว่า ระดับโลกียะ ขั้นทิฏฐิธัมมิกัตถะ

       ในด้านพัฒนาการตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนาที่มีต่อการดูแลสุขภาพ พบว่าการที่จะดูแลสุขภาพให้ครอบคลุมจะต้องเป็นแบบองค์รวม คือการดูแลร่างกายและจิตใจ การมีสังคมและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยแนวคิดทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงองค์รวมในการดำเนินชีวิตที่ประกอบด้วย ๓ ด้านในลักษณะเป็นองค์รวมที่มีชื่อว่า ไตรสิกขา กล่าวคือ (๑) การพัฒนาด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมทางสังคม เรียกรวมกันว่า ศีล (๒) การพัฒนาภาวะจิต และสุขภาพให้เป็นจิตใจที่ดีงาม เข้มแข็ง มีความสุข โดยมีเจตจำนงที่เป็นกุศล และมีสภาพที่เอื้อต่อความพร้อมในทางปัญญา เรียกสั้นๆ ว่า สมาธิ (๓) พัฒนาปัญญา ให้รู้เข้าใจมองเห็นตามเป็นจริง การดำเนินชีวิตเป็นองค์รวมนั้นทั้ง ๓ ด้าน ต้องมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงถึงกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อทั้ง ๓ ด้านมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา จะเป็นเกราะป้องกันชีวิต ช่วยให้มีสุขภาพที่ดี

      หลักไตรสิกขาเป็นหลักการที่ถูกนำไปใช้พัฒนา ๔ ด้าน หรือที่เรียกว่า หลักภาวนา ๔ ประกอบด้วย กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนาโดยบุคคลที่ประยุกต์หลักภาวนา ๔ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ผลลัพธ์จากการพัฒนาทั้ง ๔ ด้าน คือความสุข บุคคลที่ปฏิบัติตามหลักภาวนา ๔ ย่อมส่งผลให้มีความสุขดีตามมาจึงเป็นการดูแลสุขภาพแบบไตรสิกขาอย่างแท้จริง ที่นำไปสู่การพัฒนาตนเองให้ดำเนินชีวิตที่มีจุดมุงหมายขั้นสูงหรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในพระพุทธศาสนาหมายถึง การมีปัญญารู้เท่าทันความจริงเข้าถึงธรรมชาติของโลกและชีวิต อันทำให้จิตใจเป็นอิสระ ที่เรียกว่า ระดับโลกุตตระ

Article Details

How to Cite
สุริยะรังษี ด. (2016). หลักสุขบัญญัติไทยสมัยใหม่กับหลักการพัฒนาตามแนวคิดไตรสิกขา. Dhammathas Academic Journal, 16(1), 264–281. Retrieved from https://so06.tci-thaijo.org/index.php/dhammathas/article/view/78770
Section
บทความวิชาการ (Academic Article)